เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตรวจเลือดในโรคทางระบบประสาท

เทคโนโลยีทางการแพทย์

การวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ คือ การตรวจเลือด เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค การตรวจเลือดมีวัตถุประสงค์ใด มีตรวจเลือดอะไรบ้าง ผมขออธิบาย ดังนี้ วัตถุประสงค์การตรวจเลือดในโรคทางระบบประสาท ได้แก่

  1. การวินิจัยโรค โดยเป็นเกณฑ์หนึ่งในการวินิจฉัย เช่น ANA, double stand DNA หรือ LE cell ในการวินิจฉัยโรคระบบประสาท สาเหตุจากโรคเอส แอล อี (SLE) หรือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อใช้การวินิจฉัยโรคเส้นประสาทส่วนปลายจากโรคเบาหวาน การตรวจแอนตี้บอดี้ชนิดต่างๆ ในโรคระบบประสาท
  2. การเตรียมความพร้อมในการรักษา เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคทางระบบประสาทบางชนิดอาจส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การตรวจหน้าที่ของตับ ไตและความสมบูรณ์ของเลือด (CBC: complete blood count) เป็นต้น
  3. การตรวจประเมินการตอบสนองต่อการรักษา เช่น การตรวจระดับเอ็นไซม์กล้ามเนื้อ (CK : creatine kinase) ในโรคกล้ามเนื้ออักเสบ (polymyositis) อี เอส อาร์ (ESR) ในโรคหลอดเลือดขมับอักเสบ(temporal arteritis) เป็นต้น
  4. การตรวจวัดระดับยากันชัก กรณีผู้ป่วยโรคลมชักมีอาการชักในขณะที่ทานยากันชัก หรือกรณีมีโรคตับ โรคไต ตั้งครรภ์ สงสัยระดับยาสูงเกิน หรือทานยากันชักหลายชนิด
  5. การตรวจเลือดเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค เช่น ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด รวมทั้งการติดตามผลการรักษาว่าสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มี ได้ดีหรือไม่ เป็นต้น การตรวจเลือดต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี ทั้งข้อบ่งชี้ และความถี่ในการตรวจ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับแพทย์