เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตัดตรวจชิ้นเนื้อ

เทคโนโลยีทางการแพทย์

การวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทเริ่มต้นขั้นตอนสำคัญ คือ การได้ประวัติที่สมบูรณ์ร่วมกับการตรวจร่างกายที่แม่นยำ จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เป็นส่วนใหญ่ ต่อจากนั้นบางกรณีจะต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น ซีทีสแกน เอมอาร์ไอ คลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจเลือด เป็นต้น แต่ในบางกรณีมีความจำเป็นต้องตัดตรวจชิ้นเนื้อเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

  1. ตัดตรวจชิ้นเนื้อส่วนกล้ามเนื้อ กรณีแพทย์สงสัยโรคกล้ามเนื้ออักเสบ (polymyositis) กล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่กำเนิด เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชน (Duchenne muscular dystrophy) หรือโรคพยาธิกล้ามเนื้อ
  2. ตัดตรวจชิ้นเนื้อส่วนเส้นประสาท กรณีแพทย์สงสัยโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP: chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty) โรคเส้นประสาทอักเสบในผู้ป่วยโรคเรื้อน
  3. ตัดตรวจชิ้นเนื้อส่วนผิวหนัง กรณีแพทย์สงสัยโรคที่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดและมีโรคผิวหนังที่อาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติของโรคระบบประสาท
  4. ตัดตรวจชิ้นเนื้อส่วนเนื้อสมอง กรณีผู้ป่วยมีรอยโรคในสมอง เช่น ก้อนเนื้องอก ฝีในสมอง เป็นต้น
  5. ตัดตรวจชิ้นเนื้อส่วนเยื่อหุ้มสมอง กรณีแพทย์สงสัยรอยโรคบริเวณเยื่อหุ้มสมอง
  6. ตัดตรวจชิ้นเนื้อส่วนกระดูก กรณีแพทย์สงสัยรอยโรคบริเวณกระดูกกดทับเส้นประสาทไขสันหลังหรือเนื้อสมอง

การตัดตรวจชิ้นเนื้อนั้นเป็นการตรวจในขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยโรคที่ต้องการคำตอบแต่ชัด เพื่อให้การรักษาตรงกับโรค อย่างไรก็ตามการตัดตรวจชิ้นเนื้อเป็นการตรวจที่ต้องประกอบด้วยการผ่าตัด ถือว่าเป็นการตรวจชนิดที่รุกราน(ก่ออันตราย)แบบหนึ่ง (invasive procedure) ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แพทย์ก็จะไม่ทำ ซึ่งก่อนจะทำแพทย์และทีมจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นจริงๆ ก่อให้เกิดความคุ้มค่า

เมื่อแพทย์ได้อธิบายให้ญาติหรือผู้ป่วยทราบถึงความจำเป็นของการตัดตรวจชิ้นเนื้อนั้น หมายความว่าแพทย์ได้ไตร่ตรองอย่างดีแล้ว ผู้ป่วยและญาติต้องพิจารณาให้ดี ถึงความจำเป็น ความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน และตัดสินใจให้เร็ว เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม