เตือนให้รู้ทัน ความดันโลหิตสูง

น.พ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มักมีการจัด งานเลี้ยงสังสรรค์ รับรองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงขอเตือนภัย เนื่องจากร้อยละ 95 ของเแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว ทำให้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ไปขยายหลอดเลือด จนความดันโลหิตสูงมากขึ้นกว่าปรกติ ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดแตกถึงแก่ความตายได้

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2542 ว่า ความดันโลหิตที่วัดได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตร ปรอทถือว่าสูงกว่าปรกติ และเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

หากความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงเป็นเวลายาวนาน ถือว่าเรื้อรัง แล้วจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดโรคนานาชนิด สถิติทางการแพทย์แสดงว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ได้รับการบำบัดรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจล้มถึง 60% - 75% จะเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัดหรือแตก 20% - 30% และจะเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5% - 10% ในทางตรงกันข้าม หากมีการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปรกติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดโอกาสเกิดโรคต่างๆ ดังกล่าวอย่างได้ผล

ในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น ถึงแม้จะรู้ตัวว่าเป็นแล้ว ส่วนมากจะไม่ไส่ใจในเรื่องการบำบัดรักษา อาจเป็นเพราะไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มแสดงอาการ หรือเริ่มเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะหันมาสนใจการบำบัดรักษา แต่ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

อันที่จริง ความดันโลหิตจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ อายุ (เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตาม) เวลา (ความดันโลหิตจะขึ้นลงไม่เท่ากันตลอดวัน) จิตใจและอารมณ์ (ความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงผิดปรกติได้ แต่การพักผ่อนจะช่วยให้ความดันโลหิตกลับมาสู่สภาวะปรกติได้) เพศ (เพศชายจะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าเพศหญิง) และพันธุกรรม (พ่อแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดถึงลูกหลาน มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว)

โดยทั่วๆไป ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจจะไม่แสดงอาการใดๆ เลย หรือถ้าแสดง อาจจะมีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนหัว และเหนื่อยง่าย หรืออาจมีอาการแน่นหน้าอกและนอนกระสับกระส่าย นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโดยตรง (อาทิ ภาวะหัวใจล้ม และหลอดเลือดในสมองแตก) หรือโดยอ้อม (อาทิหลอดเลือดแดงตีบหรือจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบจนเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต และหลอดเลือดแดงในไตตีบจนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง)

ผู้มีความดันโลหิตสูง ควรปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอ ในเรื่องการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดเพื่อลดปริมาณเกลือ การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง การลดความเครียดจากการทำงานเพื่อเพิ่มสภาพแวดล้อมที่ดี การลดน้ำหนักตัวของผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานเพื่อไม่ให้เป็นโรคอ้วน และการกินยาและพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตและปรับยาให้เหมาะสม

แหล่งข้อมูล:

  1. ระวังหน่อย! ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325404807&grpid=&catid=19&subcatid=1904 [2011, January 4].
  2. ความดันโลหิตสูง http://th.wikipedia.org/wiki/ความดันโลหิตสูง [2012, January 4].