เตือนภัย! โรคนิ้วล็อค...โรคฮิตคนทำงาน (ตอนที่ 1)

ผลการวิจัยในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า โรคนิ้วล็อก มักเกิดขึ้นในบรรดาผู้มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเกิดขึ้นมากสุดในช่วงอายุ 50 - 60 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันดับหนึ่งคือกลุ่มแม่บ้าน ตามด้วยนักกอล์ฟ คนทำสวน และกลุ่มช่าง นิ้วที่มีปัญหาของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน กลุ่มแม่บ้าน มักเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนาง โดยเป็นทั้งมือซ้ายและมือขวา

ส่วนนักกอล์ฟ ซึ่งกำไม้กอล์ฟและกระแทกลูกกอล์ฟขณะตีลูก มักเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนางของมือซ้าย คนทำสวน มักเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนางของมือขวา เพราะใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ หิ้วถังน้ำรดน้ำต้นไม้ และใช้มือขุดและพรวนดินต้นไม้ บรรดาครู ผู้พิพากษา นักบริหาร และนักบัญชี มักเป็นที่นิ้วโป้งขวา

โรคนิ้วล็อค (Trigger finger Stenosing tenosynovitis) คือ ความผิดปกติของมือที่ไม่สามารถงอหรือเหยียดได้อย่างปกติ อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว อาการเริ่มตั้งแต่เจ็บบริเวณฐานนิ้ว จากนั้น นิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหว สะดุด หรือกระเด้งเข้าออกสียงดังเวลางอหรือเหยียด

อาการดังกล่าว จึงอาจเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า “โรคนิ้วเหนี่ยวไกปืน” (Trigger finger) เหมือนการเหนี่ยวและปล่อยไกปืนนั่นเอง ต่อมาเมื่อเป็นหนักขึ้น คือ มีอาการล็อค หากงอหรือกำนิ้วมือไว้ ก็จะไม่สามารถเหยียดออกได้เอง แต่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด

โรคนิ้วล็อค เกิดจากการหดตัวของเยื่อหุ้ม (Sheath) บริเวณรอบเอ็นกล้ามเนื้อของนิ้วนั้นๆ เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) นั้นถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มที่ชื่อ Tenosynovium ปกติแล้ว เนื้อเยื่อดังกล่าวจะปล่อยของเหลวหล่อลื่นที่ช่วยให้เอ็น กล้ามเนื้อเคลื่อนตัวได้ดีขึ้นภายใต้เยื่อหุ้ม ขณะที่เรางอและยืดนิ้ว

แต่ถ้าเนื้อเยื่อ Tenosynovium เกิดการอักเสบบ่อยครั้งหรือเป็นเวลานาน เนื้อที่ในเยื่อหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อจะหดตัวแคบลง ดังนั้น เอ็นกล้ามเนื้อที่เคลื่อนตัวผ่านเยื่อหุ้มอย่างยากลำบาก จึงทำให้นิ้วล็อคติดอยู่ในท่างอก่อนที่จะยืดตรง และการล็อคติดแต่ละครั้งก็ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อระคายเคืองและอักเสบ ซึ่งยิ่งทำให้อาการแย่ลงอีก

สัญญาณเตือนหรืออาการของโรคนิ้วล็อคอาจมีตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นไปจนถึงขั้นรุนแรง ประกอบไปด้วย อาการนิ้วแข็งทื่อ โดยเฉพาะช่วงเช้า ความรู้สึกเหมือนนิ้วลั่นเมื่อขยับนิ้ว เกิดตุ่มเล็กๆ แข็งกดแล้วเจ็บที่ฐานนิ้วที่เป็น นิ้วติดขัดหรือล็อคอยู่ในท่างอที่อยู่ๆก็เด้งตัวตรงออกมา นิ้วล็อคหงิกงอ ไม่สามารถคลายออกได้

ส่วนใหญ่แล้ว โรคนิ้วล็อคมักเกิดกับมือข้างที่เราถนัด และมักเกิดกับนิ้วโป้ง กลาง หรือนาง อาจเกิดแค่นิ้วใดนิ้วหนึ่งหรือทุกนิ้วทั้งมือเลยก็ได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อค คือกลุ่มที่มีอาชีพหรืองานอดิเรกที่มีกริยาการกำหรือยึดของซ้ำๆ อาทิ ผู้ใช้เครื่องมือไฟฟ้า (Power tool) หรือเล่นเครื่องดนตรี (Musical instrument) เป็นประจำ

โดยที่โรคนิ้วล็อค พบได้ในผู้หญิงและคนที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes) ไขข้ออักเสบ (Rheumatoid arthritis) ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) โรคแอมีลอยด์ (Amyloidosis) โรคที่มีโปรตีนบางชนิดเกาะจับผิดปกติตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ) และการติดเชื้อ (Infection) บางชนิด มากกว่าคนปกติทั่วไป อาทิ วัณโรค (Tuberculosis)

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนกลุ่มเสี่ยงโรคนิ้วล๊อก "แม่บ้าน-นักกอล์ฟ-คนทำสวน-ช่าง" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352351983&grpid=&catid=09&subcatid=0902[2012, November 19].
  2. [Trigger Finger] Definition. http://www.mayoclinic.com/health/trigger-finger/DS00155 [2012, November 19].
  3. [Trigger Finger] Causes. http://www.mayoclinic.com/health/trigger-finger/DS00155/DSECTION=causes [2012, November 19].
  4. [Trigger Finger] Risk factors http://www.mayoclinic.com/health/trigger-finger/DS00155/DSECTION=risk-factors [2012, November 19].