เตือนผลกระทบดื่มน้ำแร่ทุกวัน (ตอนที่ 2)

นาย สุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า "ในอาหารที่เรากินปกติในชีวิตประจำวัน ก็มีแร่ธาตุผสมอยู่แล้ว หากเราไม่ได้เจ็บป่วยหรือร่างกายขาดแร่ธาตุตัวใด ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ หรือดื่มได้แต่ไม่จำเป็นต้องดื่มทุกวัน ด้วยกลัวว่าร่างกายจะขาดแร่ธาตุ ถ้าเรากินอาหารครบตามหลักโภชนาการ เราไม่จำเป็นต้องกินวิตามิน หรืออาหารเสริมใดๆ เลย"

ขณะที่ นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นความเข้าใจผิดกันมากว่า การดื่มน้ำแร่แล้ว ร่างกายจะดี หรือได้รับประโยชน์มากกว่าการดื่มน้ำสะอาดตามปกติทั่วไป เนื่องจาก ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ออกมารองรับว่าคนที่ดื่มน้ำแร่ทุกวัน จะมีสุขภาพดีกว่าคนที่ดื่มน้ำสะอาดธรรมดา

หลักการทั่วไปทางโภชนาการคือ แร่ธาตุสำคัญๆ ที่ร่างกายต้องการ มาจากอาหารมื้อหลักและครบ 5 หมู่เท่านั้น ซึ่งแร่ธาตุที่สำคัญที่มีประโยชน์และร่างกายต้องการ จะมีในปริมาณที่เหมาะสมอยู่ในอาหารอยู่แล้ว เช่น แคลเซียม พบมากในกะปิ เต้าหู้ งาดำ เกลือโซเดียม แมกนีเซียม พบในผักใบเขียวจัด โพแทสเซียม พบในกล้วย ส้ม กำมะถัน พบใน กระเทียม หัวหอม ขึ้นฉ่าย ทุเรียน

ใครที่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็จะได้รับแร่ธาตุที่พอเหมาะแก่ความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ที่มีแร่ธาตุต่างๆ เสริมอีก

"น้ำแร่มีราคาแพงกว่าน้ำดื่มทั่วไป และก็ไม่ได้มีประโยชน์ถึงขั้นไปเสริมเพิ่มความแข็งแรง ให้ดีขึ้นไปกว่าการดื่มน้ำปกติที่มีราคาถูกกว่า การดื่มน้ำแร่อาจจะเป็นเพียงรสนิยมและความรู้สึกที่คิดกันว่าดื่มแล้วดี อันเนื่องมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ก็มีคำถามที่อยากถามคือ ราคาน้ำแร่นั้นแพงเกินไปหรือเปล่า" นายสง่ากล่าว

น้ำแร่เป็นน้ำที่ได้จากน้ำพุธรรมชาติประกอบด้วยแร่ธาตุหลากหลาย อาทิเช่น เกลือ และสารประกอบพวกกำมะถัน (ซัลเฟอร์) น้ำแร่มีการใช้อุปโภคและบริโภคที่แหล่งน้ำพุร้อนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยใช้ในการดื่มน้ำ และรักษาโรค เช่น การทำสปา (Spa) อาบน้ำ (Bath) และแช่บ่อน้ำพุร้อน (Well)

สปา คือ สถานที่ใช้น้ำมาบริโภคและอาบ ส่วนการอาบน้ำ คือสถานที่ใช้น้ำสำหรับชำระร่างกาย รักษาโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และบ่อน้ำพุร้อน คือ สถานที่ที่น้ำถูกใช้บริโภค น้ำแร่บางแห่งอาจมีฟองฟู่ [เหมือน (Sparking) [อัดแก๊สเหมือนน้ำโซดา]

ปัจจุบันมีการนำน้ำแร่จากแหล่งน้ำแร่มาบรรจุขวดเพื่อกระจายให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางไปยังแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติทำได้ยากขึ้น และอาจติดปัญหากับเจ้าของสัมปทานในบ่อน้ำแร่ นอกจากนี้ น้ำแร่บรรจุขวดมากกว่า 3,000 ตราสินค้าที่มีจำหน่ายกันทั่วโลก

น้ำแร่ที่มี แคลเซียม และแมกนีเซียม ละลายในน้ำมากเรียกว่าน้ำกระด้าง (Hard water) แต่ถ้ามีแคลเซียม และแมกนีเซียม ละลายในน้ำน้อย เรียกว่า น้ำอ่อน (Soft water)

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือน ผลกระทบดื่มน้ำแร่ทุกวัน เหมือนกินยาต่อเนื่อง ร่างกายเสียสมดุ - http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1367636407&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, May 30].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Mineral_water [2013, May 30].
  3. http://www.moe.go.th/moe/th/blog/view-blog.php?memberid=1626&blogid=951 [2013, May 30].