เตือนผลกระทบดื่มน้ำแร่ทุกวัน (ตอนที่ 1)

นาย สุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยว่า ทบ. มีความห่วงใยในการบริโภคน้ำดื่มของประชาชน โดยเฉพาะน้ำแร่ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งมีการบรรยายสรรพคุณต่างๆ เช่น เป็นน้ำดื่มสะอาดมากกว่าน้ำดื่มโดยทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีการอ้างว่ามีแร่ธาตุหลายชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย จนทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันไปดื่มน้ำแร่ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วน้ำแร่ที่วางขายในท้องตลาด เป็นน้ำบาดาลชนิดหนึ่ง แต่อยู่ในพื้นที่เฉพาะที่มีแร่ธาตุบางชนิดมากเป็นพิเศษเท่านั้น เช่น บางพื้นที่จะมีแร่ฟลูออไรด์ที่ช่วยให้ฟันและกระดูกแข็งแรง

น้ำแร่อาจจะมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ตามที่โฆษณาก็จริง แต่ไม่ควรดื่มหรือบริโภคทุกวัน เนื่องจากน้ำแร่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุชนิดต่างๆ แล้วแต่พื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิด เช่น น้ำแร่บริเวณภูเขาจะมีแร่ธาตุซิลเลเนียมและวานาเดียมมาก แร่ธาตุ 2

ขณะที่น้ำแร่บางยี่ห้อบางชนิดมีการเติมสารที่ทำให้มีรสออกหวาน ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำแร่ทุกวัน เพราะจะทำให้ร่างกายเสียความสมดุล ที่สำคัญก่อนจะซื้อน้ำแร่มาดื่มควรอ่านฉลากกำกับว่า ในแต่ละยี่ห้อมีสรรพคุณอย่างไร มีแร่ธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง และแร่ธาตุเหล่านั้นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ค่ามาตรฐานฟลูออไรด์ในน้ำแร่สำหรับดื่ม ไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร หากเกินจะส่งผลเสียต่อฟันและกระดูกได้ โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบ จะทำให้ฟันตกกระ ส่วนผู้ใหญ่จะทำให้กระดูกผิดปกติ [ดังนั้น จึงควรอ่านฉลากกำกับอย่างใช้วิจารณญาณ]

แร่ธาตุที่อยู่ในน้ำแร่ที่สำคัญๆ เช่น ธาตุเหล็ก ไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ทองแดงไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร สังกะสีไม่ควรเกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ซัลเฟตไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ไนเตรตไม่ควรเกิน 45 มิลลิกรัมต่อลิตร คลอไรด์ไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นต้น

นายสุพจน์ยังกล่าวว่าอีกว่า เท่าที่ตรวจสอบจากการวางขายในท้องตลาด พบว่าน้ำแร่ส่วนใหญ่จะบอกเพียงคุณสมบัติของแร่ธาตุ แต่ไม่ได้บอกปริมาณ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ว่าน้ำแร่แต่ละชนิดมีปริมาณแร่ธาตุเกินมาตรฐานหรือไม่ ผู้บริโภคพอเห็นว่าเป็นน้ำแร่ก็จะคิดเอาเองว่าดีกว่าน้ำดื่มธรรมดา เนื่องมาจากอิทธิพลของการโฆษณา

“ในต่างประเทศไม่มีใครดื่มน้ำแร่กันทุกวัน เพราะการดื่มน้ำแร่ทุกวันเหมือนกับการกินยาทุกวัน ไม่ดีต่อร่างกายแน่ๆ"นายสุพจน์กล่าว เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรดื่มน้ำบาดาลทุกวัน เพราะน้ำบาดาลก็คือน้ำแร่เหมือนกัน นายสุพจน์กล่าวว่า น้ำบาดาลคือน้ำดิบที่บริสุทธิ์ มีแร่ธาตุหลายชนิดเจือปนอยู่ ในปริมาณที่ไม่เป็นโทษแก่ผู้ดื่ม

หากเปรียบเทียบน้ำบาดาลสำหรับการบริโภคปกติ กับแหล่งน้ำแร่ที่คนไทยซื้อบริโภคในราคาสูง ความสะอาดและความบริสุทธิ์จะไม่แตกต่างกัน แต่แตกต่างกันตรงน้ำแร่ที่คนไทยซื้อดื่ม มีแร่ธาตุบางชนิดอยู่ เช่น โซเดียม สังกะสี คลอไรด์ ซิลิกา โพแทสเซียม แมกนีเซียม

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือน ผลกระทบดื่มน้ำแร่ทุกวัน เหมือนกินยาต่อเนื่อง ร่างกายเสียสมดุ - http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1367636407&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, May 30].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Mineral_water [2013, May 30].
  3. http://www.moe.go.th/moe/th/blog/view-blog.php?memberid=1626&blogid=951 [2013, May 30].