เตือนตัวไรอ่อน นอนเต๊นท์กลางป่า

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีอากาศเย็น ฟ้าโปร่งใส นักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมไปกางเต็นท์นอนตามป่า หรือนอนดูดาวกลางแจ้ง โดยเฉพาะในภาคเหนือ ขอให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนที่อยู่ตามป่ากัด จนได้รับเชื้อริกเกทเซียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของตัวไรอ่อน ซึ่งเมื่อถูกกัดแล้วจะมีแผลไหม้คล้ายกับโดนบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆ แผลจะแดง หลังจากถูกกัดได้ประมาณ 10 – 12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้

ตัวไรอ่อน (Trombiculidae) จัดอยู่ในประเภทแมลงชนิด 6 – 8 ขา (Mite หรือ Bug) ในขั้นตอนของการเป็นตัวอ่อนหรือดักแด้อยู่ จะกัดคนที่มันอาศัยอยู่ (Host) และเป็นสาเหตุของความระคายเคืองมาก หรือเป็นแผลไหม้เล็กๆ มีผื่นคันไปทั่วและผิวหนังอักเสบ เรียกชื่อสามัญว่า Chiggers ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Jigger ตรงที่คำแรกเป็นเห็บ แต่คำหลังเป็นหมัด

ตัวไรอ่อนอาศัยอยู่ในป่าและทุ่งหญ้า นอกจากนี้ยังพบในบริเวณที่ต่ำและชื้น ซึ่งมีพืชงอกงามหนาแน่น อาทิ ป่ารกชัฎ พุ่มไม้เตี้ยๆ กล้วยไม้ ตามทะเลสาบและลำธาร รวมทั้งในที่แห้งซึ่งมีพืชเตี้ยๆ อาทิ ลานหญ้า สนามกอล์ฟ และสวนสาธารณะ

ตามปรกติตัวไรอ่อนจะพบมากสุดในหน้าร้อน เมื่อหญ้าและวัชพืชงอกงามหนาแนนที่สุด ในขั้นตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนมักเกาะติดไปกับผิวหนังคนและสัตว์ จนคันไปทั่ว พวกแมลงเหล่านี้มีขนาดตัวที่เล็กมากจนต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จึงจะเห็น วัดได้ 0.4 มิลลิเมตร (1/60 ของ 1 นิ้ว) มีสีส้ม และกัดเจ็บ

ตัวไรอ่อนมีวงจรชีวิตที่เริ่มด้วยไข่ (Egg) ตัวอ่อน (Larva) ดักแด้ (Nymph) และโตเต็มที่ (Adult) ตัวอ่อนจะเกาะติดแล้วดูดเซลล์ผิวหนังของคน กระต่าย กบ เต่า นก และแมลงด้วยกัน เป็นอาหาร แต่ไม่ดูดเลือดเหมือนยุง หลังจากที่เกาะติดผิวหนังแล้ว จะฉีดเอ็นไซม์ที่ย่อยสลาย (Digestive) เข้าไปในผิวหนัง เพื่อทำลายเซลล์ผิวหนัง

อันที่จริงตัวไรอ่อนจะไม่กัด แต่จะเจาะเป็นรูบนผิวหนัง แล้วเคี้ยวชิ้นส่วนจิ๋วๆ ที่อยู่ภายในผิวหนัง เป็นสาเหตุของความระคายเคืองมากๆ และบวมเป่ง นอกจากอาการคันมากแล้ว ยังตามด้วยตุ่มแข็งแดงคล้ายสิว หรือรังผึ้ง และผื่นคันหรือรอยแผลบริเวณที่ถูกแดดเผา ในผิวหนังคน อาการคันมักเกิดขึ้นหลังจากตัวอ่อนหลุดจากผิวหนังไปแล้ว

หลังจากที่ได้อาหารจากคนที่อาศัยอยู่แล้ว ตัวอ่อนจะหลุดหล่นไปที่พื้น และกลายเป็นดักแด้ แล้ววิวัฒนาจนโตเต็มที่ ก็จะมี 8 ขา แต่ไม่เป็นอันตรายต่อคน ในระยะหลังตัวอ่อน แมลงนี้จะไม่เป็น ”กาฝาก หรือ ปรสิต” (Parasite) แล้วกินอาหารจากวัสดุที่เป็นพืช ตัวเมียจะวางไข่ 3 – 8 ฟอง ในแต่ละครั้ง มักจะวางไข่บนใบไม้หรือใต้รากของพืชและตายใน 3 เดือน

การป้องกันไม่ให้ตัวไรอ่อนกัด ควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง เพื่อปิดทางเข้าของตัวไรอ่อนสูร่างกาย ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก ต้องรีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายตัวไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. เตือนนอนเต็นท์ระวังป่วย"สครับไทฟัส-มาลาเรีย" http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000160717&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 22].
  2. Trombiculidae. http://en.wikipedia.org/wiki/Trombiculidae [2011, December 22].