เตตระไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline) หรือเตทริโซลีน (Tetryzoline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเตตระไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline หรือ Tetrahydrozoline HCl/Tetrahydrozoline hydrochloride) หรือเตทริโซลีน (Tetryzoline) เป็นอนุพันธุ์อิมิดาโซลีน (Delivative of Imidazo line, สารเคมีที่เป็นสารตั้งต้นของยากลุ่ม Imidazole) และออกฤทธิ์ในลักษณะของแอลฟา อะโกนิสต์ (Alpha agonist)โดยทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ทางคลินิกจึงนำมาใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อลดอาการตาแดงที่มีสาเหตุจากการระคายเคืองภายในดวงตา นอกจากนี้ยังนำยาเตตระไฮโดรโซลีนมาผลิตเป็นยาหยอดจมูกและยาพ่นจมูกเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ซึ่งก็ใช้กลไกทำให้หลอดเลือดในจมูกหดตัวจึงช่วยลดการปลดปล่อยสารคัดหลั่งต่างๆที่ทำให้รู้สึกแน่นจมูก ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาหยอดตาและยาหยอด/ยาพ่นจมูกสามารถออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยานี้และมีระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานประมาณ 4 - 8 ชั่วโมง

เพื่อความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองก่อนที่จะใช้ยาเตตระไฮโดรโซลีนควรต้องทราบเงื่อนไขบางประการอย่างเช่น

  • ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเตตระไฮโดรโซลีนมาก่อน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างดังต่อไปนี้เช่น ต้อกระจก โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์
  • สำหรับยานี้ชนิดหยอดตา ไม่ควรใช้ในขณะที่ตาได้รับบาดเจ็บ เกิดแผล หรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้น
  • สำหรับยาพ่นจมูก/ยาหยอดจมูกควรหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาต่างๆหลายชนิดซึ่งรวมยาเตตระไฮโดรโซลีนด้วย

นอกจากนี้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรเรียนรู้วิธีการใช้ยานี้ทั้งชนิดหยอดตาหรือชนิดหยอดจมูก/พ่นจมูกอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงขนาดและระยะเวลาของการใช้ยานี้ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ตัวยาเตตระไฮโดรโซลีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างได้ เช่น ยาหยอดตาอาจทำให้เกิดตาพร่าและระคายเคืองในตา กรณียาหยอดจมูก/ยาพ่นจมูกอาจพบอาการแสบคันในจมูกที่สัมผัสยา ปากแห้ง จมูกแห้งหรือคอแห้ง รวมถึงมีอาการจามมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ยาเตตระไฮโดรโซลีนที่พบจำหน่ายในประเทศไทยมักจะเป็นสูตรตำรับที่มีการผสมตัวยาอื่นร่วมด้วยเช่น ยาฆ่าเชื้อหรือยาสเตียรอยด์ซึ่งทำให้แต่ละสูตรตำรับมีวัตถุประสงค์การใช้ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผู้บริโภคจึงไม่ควรไปซื้อหาผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้มาใช้เองโดยมิได้รับคำแนะนำหรือผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์เสียก่อน

เตตระไฮโดรโซลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เตตระไฮโดรโซลีน

ยาเตตระไฮโดรโซลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บรรเทาอาการตาแดงจากการระคายเคืองต่างๆของตาที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
  • ลดอาการคัดจมูกจากภาวะน้ำมูกมาก

เตตระไฮโดรโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเตตระไฮโดรโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเป็นลักษณะของยาในกลุ่มแอลฟา อะโกนิสต์ (Alpha-agonist/Alpha adrenergic agonist) ส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดฝอย ในบริเวณเยื่อตาและเยื่อจมูก การหดตัวของหลอดเลือดฝอยดังกล่าวจะทำให้ลดสารคัดหลั่งต่างๆที่ มากับกระแสเลือด จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เตตระไฮโดรโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเตตระไฮโดรโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

ก. ยาหยอดตา ที่มีส่วนประกอบของยาอื่นร่วมด้วยเช่น

  • Antazoline HCl/Hydrochloride (ยาแก้แพ้) 0.05% + Tetrahydrozoline HCl 0.04%
  • Dexamethasone sodium phosphate 1 mg/mL + Chloramphenicol 5 mg/mL + Tetra hydrozoline HCl 0.25 mg/ml
  • Tetrahydrozoline HCl 0.5 mg + Boric acid 8 mg + Sodium chloride 4 mg
  • Antazoline HCl 0.05% + Tetryzoline HCl 0.04%

ข. ยาหยอดจมูก/ยาพ่นจมูก ขนาดความเข้มข้น 0.05% - 0.1%

เตตระไฮโดรโซลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเตตระไฮโดรโซลีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับอาการเยื่อตาอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ:

  • ผู้ใหญ่: หยอดยาขนาดความเข้มข้น 0.01 - 0.05% ที่ตาข้างที่อักเสบ 1 - 2 หยดวันละ 1 - 4 ครั้ง ระยะเวลาการใช้ยาไม่ควรเกิน 3 - 4 วันต่อเนื่อง
  • เด็ก: ห้ามใช้ยาชนิดนี้เป็นยาหยอดตาสำหรับเด็ก

ข. สำหรับอาการคัดจมูก/น้ำมูกมาก:

  • ผู้ใหญ่: หยอดยา/พ่นยาขนาดความเข้มข้น 0.1% ในจมูกข้างที่มีอาการคัดจมูก 2 - 4 หยดหรือตามแพทย์สั่งทุก 3 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 3 - 5 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ห้ามใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา
  • เด็กอายุ 2 - 6 ปี: หยอดยา/พ่นยาขนาด 0.05% เข้าจมูกข้างที่มีอาการคัดจมูก 2 - 3 หยดหรือตามแพทย์สั่งทุก 3 ชั่วโมง การใช้ยานี้กับเด็กไม่ควรเกิน 3 - 5 วันต่อเนื่อง
  • เด็กอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: หยอดยา/พ่นยาขนาด 0.1% เข้าจมูกข้างที่มีอาการคัดจมูก 2 - 4 หยดทุก 3 ชั่วโมงหรือตามแพทย์สั่ง การใช้ยานี้กับเด็กไม่ควรเกิน 3 - 5 วันต่อเนื่อง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเตตระไฮโดรโซลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเตตระไฮโดรโซลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดยา/ใช้ยาเตตระไฮโดรโซลีนสามารถหยอดยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาเตตระไฮโดรโซลีนตรงเวลา

เตตระไฮโดรโซลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจแบ่งผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาเตตระไฮโดรโซลีนดังนี้

ก. รูปแบบยาหยอดตา: เช่น ระคายเคืองตาข้างที่หยอดยา การมองเห็นภาพผิดปกติ มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน กระสับกระส่าย อาจเกิดความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ หรือหัวใจเต้นช้าลง

ข. รูปแบบยาหยอดจมูก/ยาพ่นจมูก: เช่น จมูกด้านใช้ยารู้สึกแสบคัน จมูกแห้งหลังใช้ยา ปวดศีรษะ ง่วงนอน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูงหรืออาจพบภาวะความดันโลหิตต่ำได้ที่เรียกว่า Rebound hypotension

มีข้อควรระวังการใช้เตตระไฮโดรโซลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตระไฮโดรโซลีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆหรือมีโรคประจำตัวอยู่ด้วยหรือไม่
  • การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานกว่าที่แพทย์กำหนดจะก่อให้เกิดภาวะอาการสะท้อนกลับ(Rebound congestion) คือมีอาการแน่น/คัดจมูก และเกิดภาวะตาอักเสบ/ตาแดงมากขึ้นกว่าเดิม
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเตตระไฮโดรโซลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เตตระไฮโดรโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเตตระไฮโดรโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเตตระไฮโดรโซลีนชนิดยาหยอดตาร่วมกับยา Albuterol (ยาขยายหลอดลม), Terbutaline, Indacaterol (ยาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อหัวใจเช่น หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดความดันโลหิตสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเตตระไฮโดรโซลีนในรูปแบบยาหยอดจมูก/ยาพ่นจมูกร่วมกับยา Selegiline, Methylene blue, Furazolidone อาจเพิ่มอาการข้างเคียงต่อหัวใจโดยอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกันหรือควรเว้นระยะเวลาการใช้ยาให้ห่างกันอย่างน้อย 14 วันขึ้นไป

ควรเก็บรักษาเตตระไฮโดรโซลีนอย่างไร?

ยาเตตระไฮโดรโซลีนทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาหยอดตาและยาหยอดจมูก/ยาพ่นจมูกควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เตตระไฮโดรโซลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเตตระไฮโดรโซลีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Visine (ไวซีน)Johnson
Antazallerge (แอนทาซอลเลอร์จ)Siam Bheasach
Allergis (แอลเลอร์จิส)Thai Nakorn Patana
CD-Oph (ซีดี-ออฟ)Seng Thai
Histaoph (ฮีสตาออฟ)Seng Thai
Mano Eye Drops (มาโน อาย ดรอปส์)March Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tetrahydrozoline [2016,June11]
  2. http://www.drugs.com/mtm/tetrahydrozoline-ophthalmic.html [2016,June11]
  3. http://www.drugs.com/mtm/tetrahydrozoline-nasal.html [2016,June11]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tetryzoline%20hydrochloride/?type=brief&mtype=generic [2016,June11]
  5. file:///C:/Users/apai/Downloads/20160329_03dca09c-2105-413b-ba21-b5c030776f60.pdf [2016,June11]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/tetrahydrozoline-nasal-index.html?filter=3&generic_only= [2016,June11]
  7. http://www.drugs.com/drug-interactions/tetrahydrozoline-ophthalmic-index.html?filter=2&generic_only= [2016,June11]