เด็กแอลดี ลูกผีหรือลูกคน (ตอนที่ 1)

ผู้เขียนมีคนรู้จักที่พบว่า ตอนนี้ลูกชายมีปัญหาเพราะเพิ่งจะรู้ว่าเขาเป็นเด็กแอลดี (LD = Learning disabilities) หรือเด็กพิเศษด้านบกพร่องทางการเรียนรู้ (เด็กเรียนช้า) โชคดีที่ไม่ได้เป็นมาก แต่ต้องปรับการเรียนการสอน ต้องมีครูที่เข้าใจเด็ก เพราะลูกชายจะสมาธิสั้นทำอะไรสักพักก็เลิก ยกเว้นเวลาอยู่กับโทรทัศน์และเกมจะอยู่ได้นานมาก

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ โรคแอลดี เป็นกลุ่มที่มีความบกพร่องในทักษะการเรียนรู้เฉพาะด้าน ที่แสดงออกมาในรูปของปัญหาการได้ยิน การพูด การอ่าน การเขียน การสะกดคำ หรือการคำนวณ ทำให้เด็กมีผลการเรียนต่ำกว่าระดับเชาว์ปัญญา ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการมีอวัยวะพิการ ภาวะปัญญาอ่อน ปัญหาทางอารมณ์หรือการขาดโอกาสในการเรียนรู้ แต่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่สมองทำงานบกพร่องไป

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โรคแอลดี นั้นมีหลายประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีผลกระทบที่แตกต่างกันไป โรคแอลดี เป็นคนละอย่างกันกับโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder : ADHD) ที่เด็กมีปัญหาในการนั่งนิ่งๆ อยู่ได้ไม่นาน ไม่มีสมาธิ และโรคออทิซึม (Autism) ที่เด็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการสื่อความหมาย พฤติกรรมอารมณ์ และจินตนาการ

โรคแอลดีเป็นโรคที่ติดตัวเด็กไปจนโต อย่างไรก็ดีการทำการรักษาในวัยเด็กระยะแรกๆ สามารถช่วยได้ ทั้งนี้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อาจประสบความสำเร็จในด้านการเรียนและด้านอื่นๆ ได้ ส่วนในใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของการบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่มีแนวโน้มว่ามีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม

ร้อยละ 8 – 10 ของเด็กในสหรัฐอเมริกาที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อาจเป็นโรคแอลดีชนิดที่แตกต่างกันไป ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเด็กแอลดีมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เพราะมีการใช้สมองและการประมวลผลข้อมูลที่แตกต่างจากเด็กๆ ทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กแอลดีจะมีเชาวน์ปัญญาน้อยกว่าหรือมีนิสัยที่เกียจคร้านในการเรียนหนังสือ

โรคแอลดีบางอย่างอาจมีสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วยของมารดาหรือการได้รับบาดเจ็บก่อนเด็กคลอด หรือมารดามีการกินยาหรือดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือหลังจากเด็กคลอดเด็กอาจได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือทุพโภชนาการ หรือได้รับสารพิษอย่างตะกั่ว หรือถูกทำร้าย (Child abuse)

ปัจจุบันได้มีความพยายามศึกษาถึงวิธีการรักษาเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยอาศัยวิธีทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงยืดหยุ่นและปรับตัวได้ (Neuroplasticity) ซึ่งเป็นวิธีที่เชื่อว่า ตลอดชีวิตของคน สมองสามารถที่จะสร้างเซลล์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อการเรียนรู้และประสบการณ์

วิธีดังกล่าว มีการทดสอบสมองด้วยโปรแกรมแอโรสมิทธ์ (Arrowsmith) เพื่อดูว่าสมองส่วนไหนที่เป็นจุดแข็งและจุดด้อยของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาในการแยกความแตกต่างของคำ ก็จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำการออกเสียงให้ช้าลงเพื่อเด็กจะได้เข้าใจและสามารถเพิ่มระดับการเรียนรู้ได้มากขึ้นๆ

ถ้าคุณมีลูกเรียนอนุบาลหรือประถมต้น ลองสังเกตดูว่าลูกของคุณมีปัญหาเรื่องการบ้านหรือไม่ เขากลัวการอ่านหนังสือไหม เขียนเรียงความได้อย่างเชื่องช้า หรือเขาคำนวณไม่ค่อยได้ ในขณะที่เด็กทุกคนมีปัญหาทำการบ้านเป็นบางครั้ง แต่ถ้าปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นซ้ำซาก ให้สงสัยไว้ก่อนว่า ลูกคุณอาจเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ก็ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Learning Disabilities - Topic Overview. http://children.webmd.com/tc/learning-disabilities-topic-overview [2012, July 22].
  2. Learning Disabilities in Children. http://www.helpguide.org/mental/learning_disabilities.htm [2012, July 22].