“โมบ้า” ไม่น่าคบ (ตอนที่ 2)

เด็กติดเกมส์_โมบ้า-2

ตามตำราวิชาการกล่าวไว้ว่า การทำงานของสมองคนเราจะถูกทำลาย ถ้าหากต้องตกอยู่ในภาวะเครียดตลอดเวลา เพราะร่างกายจะสั่งให้หลั่งสาร “คอร์ทิซอล (Cortisol)” ออกมา ซึ่งถ้ามีสารชนิดนี้อยู่มากเกินไปเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ระบบการทำงานของสมองถูกยับยั้ง เพราะถูกสารดังกล่าวเข้าไปทำลายใยประสาท และทำลายส่วนสมองที่เก็บหน่วยความจำในนั้นด้วย

ถ้าร่างกายเกิดภาวะเครียดมากๆ เป็นประจำทุกวัน จะเป็นสาเหตุที่เกิดการทำลายเซลล์ประสาท ดังนั้น คนที่มีความเสี่ยงที่สมองจะถูกทำลายจากการเล่นเกมมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มคอเกมที่เล่นกันอย่างเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย จนทำให้เกิดความเครียดในความบันเทิงแบบไม่รู้ตัว

โดยเด็กติดเกมจะแสดงอาการของพฤติกรรมเสพติด ซึ่งจะเริ่มจากความอยากกระหายที่จะเล่นเกม ใช้เวลาเล่นนานขึ้น เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะมีลักษณะอาการถอนคือ มีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล กระวนกระวาย จนถึงขั้นพฤติกรรมก้าวร้าว และเสียหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผลการเรียนแย่ลง ขาดสมาธิในการเรียนการทำงาน แยกตัวไม่เข้าสังคม และสัมพันธภาพในครอบครัวแย่ลง

อธิบดีกรมสุขภาพจิตยังคงยืนยันหนักแน่นว่า ไม่สนับสนุนให้ลูกหลานของครอบครัวไหนเล่นเกมในลักษณะนี้ เพราะเสี่ยงต่ออาการ “เสพติดเกม” จนอาจส่งผลให้มีอาการทางจิตได้ในที่สุด ซึ่งขณะนี้ มีผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 53 คนแล้ว ภายใน 3 เดือน (1 ม.ค.-31 มี.ค.60) ซึ่งถือเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี

โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก ขโมยเงิน เล่นการพนัน หนีเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน และหนีออกจากบ้าน

ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14-16 ปี และมีแนวโน้มว่าอายุจะน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย โดยน้อยที่สุดขณะนี้คือเด็ก 5 ชวบ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

การติดเกม (Video game addiction) อาจนับได้ว่าเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse control disorder) ที่คล้ายๆ โรคติดการพนัน (Pathological gambling) โดยมีการเล่นวีดีโอเกมส์หรือเกมส์ทางคอมพิวเตอร์ที่มาก

อย่างเกมออนไลน์แบบเล่นตามบทบาท (Massive Multiplayer Online Role-Playing Game = MMORPG) ซึ่งเป็นเกมอาร์พีจีที่ผู้เล่นหลายคนเข้ามาเล่นในเวลาเดียวกันและเสมือนอยู่ในโลกเดียวกัน โดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และผู้เล่นแต่ละคนจะสวมบทบาทเป็นตัวละครตัวหนึ่งในโลกนั้นด้วย รวมถึงเกมที่อยู่ในสมาร์ทโฟนอีกด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. จริงแค่ไหน? เล่นเกมต่อสู้ออนไลน์ เซลล์สมองตายไม่รู้ตัว!!. http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000054226 [2017, October 11].
  2. Video Games. http://www.addictionrecov.org/Addictions/?AID=45 [2017, October 11].