เด็กดื้อด้านเหลือขอ (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

เด็กดื้อด้านเหลือขอ-5

      

      โดยทั่วไป โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้านจะไม่รักษาด้วยการใช้ยา นอกจากเด็กจะมีความผิดปกติทางจิตอื่นๆ เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น วิตกกังวล หรือ ซึมเศร้าหดหู่ โดยหลักสำคัญในการรักษาโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้านมักได้แก่

  • Parent training หรือการอบรมผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองมีความคิดที่ลงรอยกัน มีความคิดบวก และทำให้คับข้องใจระหว่างเด็กและผู้ปกครองลดน้อยลง ซึ่งบางกรณีเด็กอาจจะเข้าร่วมในการอบรมนี้ด้วย
  • Parent-child interaction therapy (PCIT) ซึ่งจะช่วยสอนผู้ปกครองถึงวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก
  • Individual and family therapy การให้การรักษารายบุคคลและครอบครัวบำบัด
  • Cognitive problem-solving training หรือการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
  • Social skills training หรือการฝึกทักษะทางสังคม
  • Consistency of care หรือการดูแลที่ต่อเนื่อง

      ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา ก็คือ การที่ผู้ปกครองต้องแสดงให้เห็นถึงความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เสมอต้นเสมอปลาย และยอมรับในตัวเด็ก แม้ในสถานการณ์ที่ยากและแตกแยก อย่างไรก็ดี อย่าบีบคั้นกดดันตัวเองมาก เพราะอย่างไรกระบวนการนี้ก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ปกครองส่วนใหญ่อยู่แล้ว

      ส่วนการดูแลที่บ้าน อาจเริ่มต้นแก้ไขปัญหาโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้านด้วยเทคนิคดังต่อไปนี้

  • เห็นคุณค่าและชื่นชมพฤติกรรมด้านบวก (Positive behavior) ของเด็ก เช่น พูดว่า “แม่ชอบจังที่หนูช่วยเก็บของเล่นวันนี้” หรืออาจมีการให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมด้านบวกของเด็ก
  • ทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก
  • หลีกเลี่ยงการต่อสู้
  • ตั้งขอบเขตด้วยการใช้คำสั่งที่ชัดเจน เป็นเหตุเป็นผล คงเส้นคงวา
  • ทำให้เป็นนิสัย ด้วยการทำเป็นตารางประจำวัน (Set up a routine)
  • หาเวลาอยู่ร่วมกัน
  • ทำงานร่วมกันระหว่างครู ผู้สอน และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่มีเวลาให้กับเด็ก
  • มอบหมายงานบ้านให้ทำ โดยเริ่มจากงานง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มความท้าทาย ด้วยการให้คำสั่งที่ชัดเจน ปฏิบัติตามได้ง่าย
  • เตรียมตัวที่จะรับกับความท้าทายของเด็ก เพราะแรกๆ เด็กอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ แต่ด้วยความพยายามและความคงเส้นคงวาก็จะช่วยพัฒนาพฤติกรรมและความสัมพันธ์ได้

      ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน แต่การดูแลที่ดีและการรักษาก่อนอาจช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่แย่ลง กล่าวคือ ยิ่งรักษาเร็วเท่าไร ก็ดีเท่านั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Oppositional defiant disorder (ODD).https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/oppositional-defiant-disorder/symptoms-causes/syc-20375831 [2018, May 1].
  2. Oppositional defiant disorder (ODD). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/oppositional-defiant-disorder-odd [2018, May 1].
  3. Oppositional Defiant Disorder. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/oppositional-defiant-disorder-odd [2018, May 1].