เด็กดื้อด้านเหลือขอ (ตอนที่ 2)

เด็กดื้อด้านเหลือขอ-2

      

      หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว

      นอกจากนี้ยังต้องฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย

      พญ.กุสุมาวดี กล่าวต่อว่า การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือ การลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายรุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย

      พญ.กุสุมาวดี กล่าวย้ำด้วยว่า ผลของการรักษาขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเด็กและการดูแลของผู้ปกครองและครูร่วมกัน โดยพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 4 ที่ได้รับการรักษาแล้วจะหายขาด ที่เหลืออีก 3 ใน 4 หากครอบครัวมีความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมในด้านดีมากขึ้น สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป

      อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน มักจะมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ ก็จะช่วยให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านดีขึ้น

      โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder = ODD) เป็นลักษณะอาการดื้อของเด็กซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนวัยเข้าเรียน หรืออาจเกิดในภายหลังก่อนที่จะเริ่มเป็นวัยรุ่น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดความบกพร่องที่สำคัญกับครอบครัว กิจกรรมทางสังคม ที่โรงเรียน และที่ทำงาน

      โดยระดับความรุนแรงของโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้านสามารถแบ่งออกได้เป็น

  • ระดับอ่อน (Mild) – เกิดอาการในสถานการณ์เฉพาะ (Specific contexts) เพียงสถานการณ์เดียว เช่น เกิดเฉพาะตอนอยู่ที่โรงเรียนหรือที่บ้าน
  • ระดับปานกลาง (Moderate) – มีอาการอย่างน้อย 2 สถานการณ์
  • ระดับรุนแรง (Severe) – มีอาการ 3 สถานการณ์หรือมากกว่า

      ประมาณร้อยละ 10ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี (มักเริ่มเป็นตอนอายุ 6-8 ปี) มักเป็นโรคนี้ โดยเด็กชายจะเป็นมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า

แหล่งข้อมูล:

  1. 8 สัญญาณ เตือนเด็กไทยเป็น 'โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน'. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795223 [2018, April 29].
  2. Oppositional defiant disorder (ODD).https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/oppositional-defiant-disorder/symptoms-causes/syc-20375831 [2018, April 29].
  3. Oppositional defiant disorder (ODD). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/oppositional-defiant-disorder-odd [2018, April 29].
  4. What you should know about oppositional defiant disorder. https://www.medicalnewstoday.com/articles/320490.php [2018, April 29].