เด็กดื้อด้านเหลือขอ (ตอนที่ 1)

เด็กดื้อด้านเหลือขอ-1

      

      น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้การเข้าถึงบริการของเด็กที่เป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น และโรคออทิสติกดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่ใน 2 อันดับแรกที่เข้ารักษาที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

      อย่างไรก็ดี กลับพบโรคจิตเวชอื่นๆ ที่ยังเข้ารับบริการน้อย โดยเฉพาะโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน ( Oppositional Defiant Disorder ) ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ

      ขณะที่ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ครั้งล่าสุดปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้าน ร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 ส่วนเด็กหญิงพบร้อยละ 1.7

      โดยโรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และสภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่

      ที่น่าเป็นห่วงพบว่า ยังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา โดยให้การดูแลตามความเชื่อ คือ 1.ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง 2. ไม่ขัดใจลูกเพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน 3.ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย 4.ส่งไปอยู่กับญาติหรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำเพื่อดัดนิสัย

      ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่อาจทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก จึงขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

      น.ต.นพ.บุญเรือง ระบุว่า แม้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น คือ การปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กให้น้อยลง ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญที่สุด โดยได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ ในการปรับลดพฤติกรรมอย่างถูกวิธีและทำให้เด็กหายป่วย

      ด้าน พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการ พบว่าเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เช่น โรคดื้อเข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มีเฉลี่ยวันละ 30-40 คน

      พญ.กุสุมาวดี อธิบายว่า สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้นพบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยลักษณะอาการเด่นๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อ จะมี 8 อาการ ได้แก่

1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา

2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ

3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อยๆ

4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ

5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อยๆ

6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย

7. โกรธและไม่พอใจบ่อยๆ

8. เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท

แหล่งข้อมูล:

  1. 8 สัญญาณ เตือนเด็กไทยเป็น 'โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน'. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795223 [2018, April 28].
  2. 'โรคดื้อรั้น'เกิน 3 ขวบไม่หายพบจิตแพทย์. http://www.thaihealth.or.th/Content/41312-'โรคดื้อรั้น'เกิน 3 ขวบไม่หายพบจิตแพทย์.html [2018, April 28].