เด็กดาวน์ผู้พิเศษ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เด็กดาวน์ผู้พิเศษ-4

การตรวจวิเคราะห์ (Diagnostic tests) ประกอบด้วย

  • Chorionic villus sampling (CVS) – โดยมีการนำเอาเซลล์จากรกไปวิเคราะห์โครโมโซม มักทำในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ระหว่างสัปดาห์ที่ 10-13 ซึ่งมีความเสี่ยงแท้งที่ร้อยละ 1-2
  • Amniocentesis - เป็นการเจาะน้ำคร่ำไปวิเคราะห์โครโมโซม มักทำในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง หลังตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ซึ่งมีความเสี่ยงแท้งที่ร้อยละ 0.5-1

นอกจากนี้ หลังทารกคลอดออกมาแล้วยังมีการตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรม ที่เรียกว่า Chromosomal karyotype เพื่อยืนยันอีกครั้ง ด้วยการตรวจจากเลือดของทารก

การพบภาวะดาวน์ซินโดรมได้ในระยะแรกเริ่มมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เพราะเด็กพวกนี้เป็นเด็กพิเศษ การรักษาจะขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละคน และการรักษาในแต่ละช่วงของชีวิตก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งอาจใช้กุมารแพทย์หลายสาขา ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของเด็กแต่ละคน เช่น

  • กุมารแพทย์ทั่วไป (Primary care pediatrician)
  • กุมารแพทย์โรคหัวใจ (Pediatric cardiologist)
  • กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร (Pediatric gastroenterologist)
  • กุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ (Pediatric endocrinologist)
  • กุมารแพทย์พัฒนาการ (Developmental pediatrician)
  • กุมารแพทย์ประสาทวิทยา (Pediatric neurologist)
  • กุมารแพทย์โรคหู คอ จมูก (Pediatric ear, nose and throat (ENT) specialist)
  • กุมารแพทย์โรคตา (Pediatric eye doctor / Ophthalmologist)
  • นักแก้ไขการได้ยินหรือนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist)
  • นักแก้ไขการพูด (Speech pathologist)
  • นักกายกายภาพบำบัด (Physical therapist)
  • นักกิจกรรมบำบัด (Occupational therapist)

ส่วนการดูแลเด็กโดยพ่อแม่ อาจจะต้องใช้ความอดทนมาก เพราะมีหลากหลายอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่น โกรธ กลัว วิตกกังวล และเสียใจ แต่สิ่งที่ช่วยได้ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขความกลัว วิตกกังวล ก็คือ การรู้ถึงข้อมูลและหาตัวช่วย การเตรียมตัวเพื่อการดูแลเด็ก เช่น

  • หาความรู้หรือเข้าอบรมโปรแกรมเกี่ยวกับการดูแลเด็กพิเศษ
  • หาโรงเรียนที่สามารถเรียนตามปกติ เรียนพิเศษ หรือทั้งสองอย่าง
  • หาคนในครอบครัวที่สามารถทำหน้าที่แทนได้ เพื่อที่ผู้ดูแลโดยตรงจะได้มีเวลาพัก หรือได้รับความเข้าใจและช่วยเหลือได้
  • เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือกิจกรรมสันทนาการ
  • สนับสนุนให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เช่น การแต่งตัว การกินอาหาร
  • วางแผนเตรียมตัวที่เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ มองหาโอกาสที่จะมีชีวิตการทำงาน ชีวิตสังคม หลังจากที่เด็กจบจากโรงเรียน

และเนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงในการที่จะมีลูกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางพันธุกรรม (Genetic counselor) ก่อนการตั้งครรภ์

แหล่งข้อมูล:

  1. Down syndrome. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/down-syndrome/home/ovc-20337339 [2017, October 9].