เด็กจ้ำม่ำ น่ารักแต่ก็น่ากลัว (ตอนที่ 1)

เด็กจ้ำม่ำ น่ารักแต่ก็น่ากลัว

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังพบในเด็กด้วย

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเด็กไทยอายุ 1-14 ปี กว่า 1 ล้านคน มีน้ำหนักเกินและอ้วน จากผลการคาดการณ์ยังพบว่า จะมีเด็กไทยถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในภาวะอ้วน ที่จะส่งผลให้เสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ เมื่อโตขึ้น และเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ บั่นทอนศักยภาพการทำงาน และส่งผลลบต่อประเทศ

ดังนั้น ในช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงควรส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เด็กและวัยรุ่นอายุ 6-18 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อยวันละ 60 นาที ได้แก่ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน วิ่งไล่จับ กระโดดยาง เล่นกีฬา ทำความสะอาดบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำสวน ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน ปลูกผัก เดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน พาลูกออกไปทัศนศึกษาหรือเที่ยวนอกบ้าน

ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงของระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ กล้ามเนื้อของกระดูก รวมถึงความยืดหยุ่นของร่างกาย เพิ่มความสูง เพิ่มความสามารถการทำงานของระบบประสาท ส่งเสริมสมาธิ ลดเครียด สร้างความมั่นใจภูมิใจในตนเอง เสริมบุคลิกภาพ สร้างทัศนคติที่ดีและมีพฤติกรรมกิจกรรมทางกายต่อเนื่องในระยะยาว

ด้านแพทย์หญิงอุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวว่า เด็กที่เริ่มอ้วนในระยะแรกจะดูจ้ำม่ำ แก้มยุ้ย น่ารัก กินจุ มักเป็นเด็กเลี้ยงง่าย จึงทำให้ผู้ปกครองไม่เห็นอันตรายที่แฝงมากับความอ้วน หรืออาจเข้าใจผิดว่าเด็กจะยืดตัวจนหายอ้วนได้เองเมื่อโตขึ้น จึงปล่อยให้เด็กอ้วนขึ้นเรื่อยๆ บางรายกว่าจะรู้ปัญหาเด็กก็อ้วนอย่างรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อน เช่น ทางเดินหายใจอุดตัน หรือข้อกระดูกพิการจนเดินไม่ได้เสียแล้ว

แพทย์หญิงอุมาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสียของโรคอ้วนมีมากมายและสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดและทางเดินหายใจอุดตัน หัวใจวาย ตับอักเสบ โรคกระดูกและข้อ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น

โดยในเด็กอายุ 5-17 ปี พบว่า เด็กอ้วนมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเด็กปกติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 2-4.5 เท่า และภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น 3–7 เท่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจและสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอีกด้วย

แพทย์หญิงอุมาพร กล่าวอีกว่า สำหรับผลเสียด้านจิตใจ โรคอ้วนจะทำให้เสียบุคลิกภาพและถูกล้อเลียน จึงทำให้เด็กเกิดปมด้อยและมีความกดดัน เด็กอ้วนบางคนแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน มีปัญหาในการเข้าสังคม มีปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียน เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

1. เด็กไทยเกินล้าน ‘อ้วน’. http://www.thaihealth.or.th/Content/35776-เด็กไทยเกินล้าน ‘อ้วน’.html [2017, March 26].

2. ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก. http://www.thaihealth.or.th/Content/27886-ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก.html [2017, March 26].