เดงกีฟีเวอร์ (ตอนที่ 2)

เดงกีฟีเวอร์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า การป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น เลือดออกและช็อกได้ ส่วนการวินิจฉัยโรคในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องเจาะเลือดตรวจ ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดตรวจอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3 - 4 วัน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย การเจาะเลือดครั้งแรกจึงอาจไม่เจอเชื้อไข้เลือดออกก็ได้

และจากผลการสำรวจพบว่า คนไทยรู้จักไข้เลือดออกกว่าร้อยละ 80 แต่มีส่วนร่วมในการป้องกันโรคกำจัดลูกน้ำยุงลายเพียงร้อยละ 20 โดยสถานการณ์ในประเทศตั้งแต่ ม.ค.- พ.ย. 2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 102,000 ราย เสียชีวิต 102 ราย ถือว่าไข้เลือดออกระบาดหนัก แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2556

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่น่าสังเกตคือ ปีนี้อากาศร้อนค่อนข้างมาก ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับฝนตกๆ หยุดๆ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมากและเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมากคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ

สำหรับการป้องกันที่สำคัญที่สุดนั้น นพ.โอภาส แนะนำว่า ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายและป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะลูกน้ำที่เกิดจากยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกก็จะมีเชื้ออยู่ในตัวเลย แต่ปัญหาคือเจ้าของบ้านไม่กำจัดทุกสัปดาห์ และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปกำจัดให้ภายในบ้าน จึงทำได้แค่บริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่ตรงจุด เพราะลูกน้ำตามท่อน้ำเป็นยุงรำคาญ และจากการสำรวจพบว่า บ้านของคนไทยยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ร้อยละ 30 ในโรงเรียนพบมากร้อยละ 40 ส่วนในวัดพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากถึงร้อยละ 60

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการรักษายังไม่มียาเฉพาะ ต้องใช้รักษาแบบประคับประคอง ส่วนวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนยา

อนึ่ง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อสังเกตของการเกิดโรคไข้เลือดออกในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า

  1. กลุ่มอายุมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถเป็นไข้เลือดออกได้ทุกกลุ่มวัยไม่เฉพาะเด็ก ซึ่งเมื่อเป็นกลุ่มวัยอื่นทำให้แพทย์ไม่ค่อยนึกถึงไข้เลือดออก แต่มีการย้ำเตือนให้แพทย์ตระหนักถึงโรคไข้เลือดออกว่าเป็นโรคประจำถิ่น
  2. น้ำหนักตัวที่ไม่สัมพันธ์กับอายุ ทำให้การวินิจฉัยไม่ชัดเจน รวมทั้งการรักษาที่ทำให้แพทย์ปรับขนาดยาได้ยากขึ้น
  3. พื้นที่ในการระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ตระหนักมากพอ และ
  4. พบว่าบางคนป่วยมากกว่า 1 โรค พร้อมกัน เช่น ป่วยเป็นไข้หวัดพร้อมไข้เลือดออก ก็จะทำให้อากาของโรคแย่ลง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังคือในช่วงไข้ลง หากไข้ลงจากการที่อาการดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหิวอยากกินอาหาร หรือสดใสขึ้น แต่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มักจะไข้ลง ตัวเย็น แต่ซึมลง ไม่อยากอาหาร ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจเข้าสู่ภาวะช็อก ทั้งนี้ หากเกิดโรคในเด็กส่วนใหญ่พ่อแม่จะสังเกตได้เร็วเพราะเด็กจะซึมอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะอดทนมากกว่าทำให้อาการของโรคดำเนินมาถึงจุดที่แย่ลง

แหล่งข้อมูล

1. สธ.ยันไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ เผยไทยมี 4 สายพันธุ์ ป่วยซ้ำได้อาการรุนแรงขึ้น. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125461 [2015, October 20].

2. คนแข็งแรงระวัง! กระตุ้นภูมิคุ้มกัน “ไข้เลือดออก” ดีเกิน ทำอาการทรุดเร็ว ชี้ฟื้นตัวหลังพ้นวิกฤต 48 ชม. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125554[2015, October 20].