เดงกีฟีเวอร์ (ตอนที่ 1)

เดงกีฟีเวอร์

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และมีกระแสว่าเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ว่า โรคไข้เลือดออกที่พบในไทยเกิดจากไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและ รักษา

หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3 - 4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ทั้งนี้ การติดเชื้อครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรงมาก แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่ต่างสายพันธุ์จะทำให้เกิดอาการรุนแรง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ในประเทศไทยมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยทั้ง 4 สายพันธุ์ความรุนแรงของโรคไม่ต่างกัน แต่พบว่าเมื่อป่วยไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว หากกลับมาป่วยโรคไข้เลือดออกอีกด้วยสายพันธุ์อื่นมักจะมีอาการรุนแรงขึ้น

ซึ่งอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากร่างกายเรามีภูมิต้านทานที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น กรณีของนักแสดงหนุ่มปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ที่อาการรุนแรง เพราะภาวะภูมิต้านทานทำงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อไวรัสและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างรวดเร็ว

นพ.โอภาส อธิบายเพิ่มเติมว่า ตรงนี้เป็นกลไกของร่างกายที่เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ภูมิคุ้มกันในเลือดก็จะไปจับสารไวรัส และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นมา ซึ่งบางคนกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปฏิกิริยาของแต่ละบุคคลด้วย

ทำให้เกิดการไปทำลายเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย หากเกิดที่หลอดเลือดก็จะทำให้สารน้ำรั่วออกจากเส้นเลือด ร่างกายจึงสูญเสียสารน้ำและเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อกขึ้นได้ นอกจากนี้ หากไปเกิดที่อวัยวะอื่นก็จะทำให้ระบบอวัยวะนั้นเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น 48 ชั่วโมง

หากผ่าน 48 ชั่วโมงนี้ไปได้ ร่างกายก็จะฟื้นตัว เหลือเพียงการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาวะเช่นนี้ถือว่าพบได้บ่อย อย่างอัตราการเสียชีวิตของไข้เลือดออกที่พบว่า ผู้ป่วย 1,000 ราย มักเสียชีวิต 1 รายนั้น จาก 2 สาเหตุ คือ 1.ภาวะเลือดออก และ 2. เลือดรั่วจากเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนที่แข็งแรง

นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า ไวรัสเดงกีไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และความรุนแรงของทั้ง 4 สายพันธุ์ก็ไม่ต่างกันมาก โดยแต่ละปีจะพบทั้ง 4 สายพันธุ์แบบวนเวียนกันไป บางปีสายพันธุ์ 2 อาจจะระบาดมากในภาคใต้ สายพันธุ์ 3 อาจจะระบาดมากในภาคเหนือ เป็นต้น ดังนั้น คนหนึ่งคนจะสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง แต่จะไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เดิม เนื่องจากร่างกายจะมีภูมิต้านทาน

แหล่งข้อมูล

1. สธ.ยันไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ เผยไทยมี 4 สายพันธุ์ ป่วยซ้ำได้อาการรุนแรงขึ้น. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125461 [2015, October 19].

2. คนแข็งแรงระวัง! กระตุ้นภูมิคุ้มกัน “ไข้เลือดออก” ดีเกิน ทำอาการทรุดเร็ว ชี้ฟื้นตัวหลังพ้นวิกฤต 48 ชม. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125554[2015, October 19].