เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) คือยาสังเคราะห์กลุ่ม Glucocorticoid ที่เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ และมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมิให้ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรือต่ออวัยวะภายใน ซึ่งด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ส่งผลให้ยาเดกซาเมทาโซนถูกนำมาใช้บำบัดรักษาโรคต่างๆได้มากมาย อาทิเช่น รักษาโรคข้อรูมาตอยด์, อาการเกร็งตัวของหลอดลม(เช่น โรคหืด), การผ่าตัดฟันในทางทันตกรรม, บรรเทาอาการแพ้ชนิด Allergy Anaphylactic Shock (แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน), ใช้เป็นยายอดตาเมื่อต้องทำหัตถกรรมเกี่ยวกับตา เช่น ผ่าตัดตา, ใช้เป็นยาระงับอาการแพ้โดยผสมกับ ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาพ่นจมูก, ใช้ระงับการอักเสบในผู้ป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, บรรเทาและลดอาการข้างเคียงของยากลุ่มยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง, ใช้เป็นยาทดแทนในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเพรดนิโซโลน, ใช้รักษาอาการป่วยของทารกในครรภ์มารดาที่มีการพัฒนาของปอดผิดปกติ และยังมีประโยชน์อีกหลายข้อที่มิได้กล่าวถึง ดังนั้น ขนาดการใช้ยาจึงมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการโรคของแต่ละบุคคล

หลังจากร่างกายได้รับยาเดกซาเมทาโซน ยาจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ และจะถูกลดระดับในกระแสเลือด 50% ภายในเวลาประมาณ 190 นาที โดยขับออกมากับปัสสาวะ

ยาเดกซาเมทาโซน มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้หลายประการ การใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสมจึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาเดกซาเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เดกซาเมทาโซน

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเดกซาเมทาโซน เช่น

  • บรรเทาอาการอักเสบต่างๆ ที่เกิดกับร่างกาย
  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
  • รักษาอาการหอบหืด โรคหืด
  • รักษาและป้องกันภาวะอักเสบของตาอันมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือ หลังผ่าตัดต้อกระจก
  • บรรเทาอาการบวมของจอตา/จอประสาทตา อันมีสาเหตุจากเส้นเลือดดำใหญ่ที่ไปหล่อเลี้ยงตีบตัน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน)
  • รักษาอาการอักเสบของหู(หูติดเชื้อ) อันมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาและบรรเทาแผลในปาก ช่องคอ โดยใช้ในรูปแบบของยาพ่น
  • ลดภาวะสมองบวมในผู้ป่วยด้วย เนื้องอกสมองมะเร็งสมอง

ยาเดกซาเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเดกซาเมทาโซนออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการเพิ่มปริมาณผิดปกติของเม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ในบริเวณที่มีการอักเสบ อีกทั้งมีกลไกทำให้ของเหลวถูกดูดกลับคืนเข้าในหลอดเลือด เป็นเหตุให้ลดอาการบวมของร่างกาย และกดการตอบสนองของร่างกายต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

ยาเดกซาเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาเดกซาเมทาโซน เช่น

ก. ยาเดี่ยว: เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาพ่นคอ

ข: ยาผสม: เช่น

  • ยาหยอดตา ชนิดน้ำ ยาขี้ผึ้งป้ายตา
  • ยาหยอดหู

หมายเหตุ: ในรูปแบบยาผสม ยาเดกซาเมทาโซน มักจะมีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น Neomycin, Tobramycin, Polymyxin-B เป็นต้น

ยาเดกซาเมทาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาเดกซาเมทาโซน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: รักษาหอบหืด และ รักษาอาการอักเสบต่างๆของร่างกาย: รับประทาน 0.75 - 9 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุกๆ 6 – 12 ชั่วโมง

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทาน ต้องอยู่ในคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง ด้วยเดกซาเมทาโซนเป็น ‘ยาควบคุมพิเศษ’ มีใช้ในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น การใช้ยารวมถึงขนาดรับประทานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลที่สุดต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเดกซาเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดกซาเมทาโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเดกซาเมทาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

ยาเดกซาเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

หลังการใช้ยาเดกซาเมทาโซนอาจพบผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เกิดสิว
  • นอนไม่หลับ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • รับประทานอาหารมากขึ้น
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • เบื่ออาหาร
  • ผิวหนังบางลง
  • ซึมเศร้า
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีความเสี่ยงของการติดเชื้อมากขึ้น
  • ความดันลูกตาสูง
  • อาเจียนคลื่นไส้
  • จิตใจสับสน
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • บวม ใบหน้า ตามนิ้ว มือและขา
  • กรณีที่ใช้ยาเป็นเวลานานๆอาจเกิดต้อกระจก

*อนึ่ง: หากหยุดยาเดกซาเมทาโซนกะทันหันหลังกินยาต่อเนื่อง อาจมี อาการถอนยา อาทิเช่น

  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เป็นไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อ
  • ขึ้นผื่นคันตามผิวหนัง
  • น้ำหนักลด
  • เยื่อจมูกอักเสบ
  • และที่ร้ายแรงที่สุดคือ เสียชีวิต /ตาย

มีข้อควรระวังการใช้ยาเดกซาเมทาโซนอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ ยาเดกซาเมทาโซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเดกซาเมทาโซน
  • ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ป่วยที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการติดเชื้อ
  • ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ที่มีการติดเชื้อราในอวัยวะต่างๆของร่างกาย เพราะจะทำให้เชื้อรารุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ป่วยที่เชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง เพราะอาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ที่อยู่ในช่วงให้วัคซีน เช่น วัคซีนฝีดาษ /วัคซีนไข้ทรพิษ เพราะจะทำให้เชื้อที่ใช้ผลิตวัคซีนรุนแรงขึ้น หรือประสิทธิภาพของวัคซีนด้อยลง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยามหดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเดกซาเมทาโซนด้วย) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเดกซาเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเดกซาเมทาโซน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม สามารถเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะเอ็นอักเสบ (URL ในเว็บhaamor.com คือ เอ็นบาดเจ็บ1)โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Ciprofloxacin, Ofloxacin, Trovafloxacin
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Rifampin ร่วมกับยาเดกซาเมทาโซน จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเดกซาเมทาโซนลดลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาทั้งคู่
  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ (ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร) มีอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว อุจจาระมีสีดำเหมือนยางมะตอย(จากมีเลือดออกในทางเดินอาหาร) จึงควรหลีกเลี่ยง หรือ ให้รับประทานยาแก้ปวดหลังอาหาร ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่นยา Ibuprofen
  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซน ร่วมกับยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด/ ยาต้านเกล็ดเลือด สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดด้อยลงไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือ แพทย์ปรับขนาดของการรับประทานยาทั้งคู่ ยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เช่นยา Aspirin

ควรเก็บรักษายาเดกซาเมทาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาเดกซาเมทาโซน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • และ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเดกซาเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเดกซาเมทาโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Archidex Eye/Ear (อาร์ชิเด็กซ์ อาย/เอีย) T P Drug
B. Dexol (บี. เดกซอล) Medicine Products
Cadexcin-N (คาเดกซิน-เอ็น) Thai Nakorn Patana
CD-Oph (ซีดี-ออฟ) Seng Thai
Decadron With Neomycin (เดกคาดรอน วิท นีโอมายซิน) MSD
Dexa (เดกซา) Utopian
Dexa ANB (เดกซา เอเอ็นบี) ANB
Dexacin (เดกซาซิน) ANB
Dexaltin (เดกซอลติน) ANB
Dexamethasone Charoen Bhaesaj (เดกซาเมทาโซน เจริญเภสัช) Charoen Bhaesaj Lab
Dexamethasone General Drugs House (เดกซาเมทาโซน เจเนอรัล ดักซ์ เฮาส์) General Drugs House
Dexamethasone GPO (เดกซาเมทาโซน จีพีโอ) GPO
Dexamethasone K.B. (เดกซาเมทาโซน เค.บี.) K.B. Pharma
Dexamethasone Medicine Products (เดกซาเมทาโซน เมดิซิน โพรดักซ์) Medicine Products
Dexamethasone Medicpharma (เดกซาเมทาโซน เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Dexamethasone Pharmasant (เดกซาเมทาโซน ฟาร์มาสัน) Pharmasant Lab
Dexamethasone T Man (เดกซาเมทาโซน ที แมน) T. Man Pharma
Dexamethasone T.P. (เดกซาเมทาโซน ที.พี.) T P Drug
Dexano (เดกซาโน) Milano
Dexa-O (เดกซา-โอ) Chinta
Dexa-P (เดกซา-พี) P P Lab
Dexapro (เดกซาโปร) Medicine Products
Dexasone (เดกซาโซน) Atlantic Lab
Dexa-Y (เดกซา-วาย) Chinta
Dexion (เดกเซียน) Umeda
Dexon (เดกซอน) General Drugs House
Dexone (เดกโซน) The Forty-Two
Dexoph Ear Drops (เดกออฟ เอีย ดร็อปส์) Seng Thai
Dexoph Eye Drops (เดกออฟ อาย ดร็อปส์) Seng Thai
Dexthasol (เดกทาซอล) Olan-Kemed
Dexthasone (เดกทาโซน) Utopian
Dexton (เด็กซ์ตอน) T P Drug
Dexylin Ear Drops (เดกซีลิน เอียดร็อปส์) General Drugs House
Dexylin Eye Drops (เดกซีลิน อายดร็อปส์) General Drugs House
Eyedex (อายเด็กซ์) Siam Bheasach
Lodexa/Lodexa-5 (โลเดกซา/โลเดกซา-5) L. B. S.
Maxitrol (แม็กซิทรอล) Alcon
Neodex (นีโอเด็กซ์) Osoth Interlab
Neo-Optal Ear Drops (นีโอ-ออฟตัล เอีย ดร็อปส์) Olan-Kemed
Neo-Optal Eye Drops (นีโอ-ออฟตัล อาย ดร็อปส์) Olan-Kemed
Oradexon (ออราเดกซอน) MSD
Ozurdex (โอเซอร์เด็กซ์) Allergan
Phenodex (ฟีโนเด็กซ์) Vesco Pharma
Sofradex (โซฟราเด็กซ์) sanofi-aventis
Tobradex (โทบราเด็กซ์) Alcon
Uto-Dexamethasone (ยูโท-เดกซาเมทาโซน) Utopian
Vesoph (เวสออฟ) Vesco Pharma
Vigadexa (วีกาเดกซา) Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dexamethasone [2020, June 20].
  2. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fDexon%2f%3fq%3ddexamethasone%26type%3dbrief%25203.http%3a%2f%2fcrvo.doctorsomkiat.com%2f [2020, June 20].
  3. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fOzurdex%2f%3fq%3ddexamethasone%26type%3dbrief [2020, June 20].
  4. https://www.drugs.com/dosage/dexamethasone.html#Usual_Adult_Dose_for_Acute_Mountain_Sickness [2020, June 20].
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/dexamethasone-index.html?filter=2#R[2020, June 20].
  6. https://www.medicinenet.com/dexamethasone-oral/article.htm [2020, June 20].