เซ็งจริงๆ เซ็งเรื้อรัง (ตอนที่ 5)

โรคเซ็งเรื้อรังเป็นโรคที่ยากจะวินิจฉัยได้ ทั้งนี้เพราะอาการอ่อนเพลียเป็นปัญหาปกติของหลายโรค โรคเซ็งเรื้อรังจึงวินิจฉัยได้เพียงจากการตัดเงื่อนไขอื่นๆ ออกไป

สำหรับการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นแพทย์จะทำการสอบประวัติและตรวจร่างกายก่อน แล้วค่อยใช้วิธีทดสอบต่างๆ เพื่อตัดประเด็นอื่นออกไป โดยวิธีการทดสอบอาจรวมถึง

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของเซลล์ที่อยู่ในเลือด
  • การตรวจอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate = ESR) ซึ่งเป็นการตรวจทางโลหิตวิทยาที่ทำกันทั่วไป โดยใช้เป็นการตรวจแบบไม่จำเพาะเพื่อตรวจหาการอักเสบในร่างกาย
  • การตรวจความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด หรือ ระดับกลูโคสในเลือด (Blood glucose level) เพื่อเช็คโรคเบาหวาน
  • การตรวจวัดระดับ (Thyroid-stimulating hormone = TSH) เพื่อทดสอบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์หรือไม่
  • การตรวจสารเคมีต่างๆในเลือด (Chemistry panel) เพื่อดูสุขภาพทั่วไปของร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อดูสุขภาพทั่วไปของร่างกาย

นอกจากนี้อาจทำการตรวจ

  • การตรวจ ANA (Antinuclear antibodies) เพื่อเช็คว่าเป็นโรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus = SLE) หรือไม่
  • การตรวจ Rheumatoid factor เพื่อเช็คว่าเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) หรือไม่
  • การทดสอบการติดเชื้อเฮชไอวี (Human immunodeficiency virus = HIV)
  • การทดสอบว่าเป็นโรคลายม์ (Lyme disease) หรือไม่
  • การทดสอบผิวหนัง (Skin test) เพื่อดูว่าเป็นวัณโรค (Tuberculosis) หรือไม่
  • การตรวจไวรัสตับอักเสบเอ บี หรือ ซี (Hepatitis A, hepatitis B, hepatitis C)

โดยแนวทางการรักษาโรคเรื้อรังจะเน้นไปที่การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นและสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ การนอนหลับที่ดีขึ้น และการออกกำลังกายเบาๆ จึงเป็นส่วนสำคัญในการรักษา

การบรรเทาอาการปวดอาจใช้ยา Acetaminophen หรือ ยา Ibuprofen เพื่อลดอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ส่วนอาการซึมเศร้าหดหู่อาจใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) เพื่อช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและนอนหลับได้

แหล่งข้อมูล

  1. Chronic Fatigue Syndrome. http://www.webmd.com/chronic-fatigue-syndrome/chronic-fatigue-syndrome-topic-overview [2014, May 1].