เซ็งจริงๆ เซ็งเรื้อรัง (ตอนที่ 4)

ความรุนแรงของโรคนี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยโรคนี้จะถูกจำกัดในการทำกิจกรรมได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพราะอาจทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือ โรคเอมเอส (Multiple Sclerosis = MS) โรคลูปัส (Lupus) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคหัวใจ ระยะสุดท้ายของโรคไตเรื้อรัง (End stage renal disease) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ โรคซีโอพีดี (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) และอาการเรื้อรังอื่นๆ

โรคเซ็งเรื้อรังมักมีการเกิดเป็นวัฏจักร มีบางเวลาที่แสดงอาการเป็นและบางเวลาที่ค่อนข้างเป็นปกติ ด้วยการมีระยะที่เป็นและระยะที่โรคทุเลานี่เองที่ทำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ค่อนข้างยาก เพราะระยะที่โรคทุเลาผู้ป่วยอาจจะทำกิจกรรมมากเกินไปด้วยคิดว่าตนเองอาการดีขึ้นแล้ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้โรคกำเริบใหม่อีก ดังนั้นการดูแลอย่างดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

การจัดการกับความป่วยโรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อน เพราะยังไม่มีการรักษาหรือยาเฉพาะที่ใช้กับโรคนี้ได้ นอกจากนี้อาการของโรคยังแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละเวลา ดังนั้นผู้ป่วยโรคจึงต้องดูแลตนเองอย่างใกล้ชิดและแจ้งให้แพทย์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีรักษาที่จำเป็น

แผนการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายควรเป็นไปเพื่อลดอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุดก่อน อย่างไรก็ดีไม่ควรคาดหวังให้ผู้ป่วยกลับเป็นปกติทันที เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยแย่ลงไปอีก

การอยู่กับโรคเซ็งเรื้อรังอาจยุ่งยากลำบาก เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่ต้องมีการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น เช่น

  • อาการที่เปลี่ยนแปลงและคาดการณ์ไม่ได้
  • ความแข็งแรงที่น้อยลงทำให้กระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  • ปัญหาเรื่องความจำหรือสมาธิที่กระทบต่อการทำงานหรือการเรียน
  • การสูญเสียความเป็นอิสระ (Loss of independence)
  • ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปกับคนในครอบครัวและเพื่อน

ความรู้สึกโกรธ รู้สึกผิด กังวล โดดเดี่ยว และโดนทิ้ง เป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยโรคเซ็งเรื้อรัง โดยอารมณ์และความเครียดที่ไม่ได้รับการแก้ไขสามารถทำให้อาการแย่ลงได้

การรอดูอาการ (Watchful waiting) แต่ยังไม่ทำการรักษา อาจใช้เวลา 1-2 เดือน โดยสังเกตจากพฤติกรรมการนอน การออกกำลังกายประจำ การควบคุมความเครียด และการกินอาหารให้สมส่วน (Balanced diet) จะช่วยขจัดอาการอ่อนเพลียที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคเซ็งเรื้อรัง หากในระยะเวลานี้อาการอ่อนเพลียยังไม่ดีขึ้น และทำให้การทำกิจกรรมปกติต้องถูกจำกัด ก็ให้ไปพบแพทย์

แหล่งข้อมูล

  1. Chronic Fatigue Syndrome (CFS) http://www.cdc.gov/cfs/general/index.html [2014, April 30].
  2. Chronic Fatigue Syndrome. http://www.webmd.com/chronic-fatigue-syndrome/chronic-fatigue-syndrome-topic-overview [2014, April 30].