เซ็งจริงๆ เซ็งเรื้อรัง (ตอนที่ 3)

แม้ว่าจะมีการวิจัยอย่างมากมาย แต่นักวิจัยก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคและยังไม่มีวิธีในการวิเคราะห์โรคได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ได้มีการศึกษาถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคเซ็งเรื้อรังว่า อาจรวมถึงการติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เครียด บาดเจ็บ และการได้รับพิษ

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีเชื้อโรคอยู่หลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเซ็งเรื้อรัง ได้แก่

  • โรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus infection) ที่รู้จักกันในนาม โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส หรือย่อว่า โรคโมโน (Infectious mononucleosis = Mono)
  • การติดเชื้อ Human herpesvirus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้คนมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วต้องกินยากดภูมิ
  • โรคติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus infection) ซึ่งเป็นไวรัสที่เข้าสู่ทางเดินอาหารแต่ไม่แสดงอาการ มีลักษณะเหมือนเป็นไข้หวัดอ่อนๆ
  • โรคหัดเยอรมัน (Rubella หรือ German measles)
  • โรคติดเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans)
  • บอร์นาไวรัส (Bornaviruses) ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบประสาท
  • โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma) ที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมผิดปกติ (Atypical pneumonia)
  • เชื้อไวรัส Ross River ที่เป็นสาเหตุของไข้โรสริเวอร์ (Ross River Fever) ที่เกิดจากการถูกยุงกัด
  • เชื้อแบคทีเรีย Coxiella burnetti ที่เป็นสาเหตุของไข้คิว (Q fever)

ส่วนระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) และภูมิแพ้ (Allergies) ก็อาจจะมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคเซ็งเรื้อรังบ้าง แต่ก็ไม่ได้ชัดเจนเสมอไปในทุกราย

ในขณะที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือแกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (Hypothalamic-Pituitary Adrenal Axis หรือแกน HPA) ก็มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคเซ็งเรื้อรังอย่างมาก เพราะมีรายงานว่าก่อนการเกิดโรคเซ็งเรื้อรัง แกนนี้จะทำให้การหลั่งฮอร์โมนต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น คอร์ติโคโทรปิน-รีลีสซิ่ง ฮอร์โมน (Corticotropin releasing hormone = CRH) คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นต้น

นักวิจัยได้พยายามค้นหาสาเหตุและปัจจัยความเสี่ยงในการเกิดโรคเซ็งเรื้อรัง แล้วพบว่าส่วนใหญ่

  • โรคเซ็งเรื้อรังจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 4 เท่า
  • แม้ว่าคนทุกวัยจะสามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่อาการส่วนใหญ่มักจะเกิดในคนที่อายุระหว่าง 40-50 ปี
  • โรคนี้พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และพบในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่าเด็กเล็ก
  • โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเชื้อชาติและคนทั่วโลก
  • คนในทุกระดับไม่ว่ารวยหรือจนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้
  • บางครั้งก็พบว่าสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้หลายคน ซึ่งอาจเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์มากกว่าเรื่องของโรคติดต่อ ทั้งนี้ต้องอาศัยการวิจัยเพิ่มเติมต่อไปอีก
แหล่งข้อมูล
  1. Chronic Fatigue Syndrome (CFS) http://www.cdc.gov/cfs/general/index.html [2014, April 29].