เซ็งจริงๆ เซ็งเรื้อรัง (ตอนที่ 1)

รศ.นพ.สามารถ นิธินันทน์ อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา ได้ให้ความรู้ว่า กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือ Chronic Fatique Syndrome (CFS) ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “โรคเซ็งเรื้อรัง” เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ โดยไม่เกี่ยวกับการออกกำลังแต่ประการใด รวมถึงการพักผ่อนก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น

กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรังมีความเชื่อมโยงกับระบบภายในร่างกายจำนวนมาก จึงทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เหนื่อยง่าย รู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ สมาธิสั้น เป็นต้น

ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคนี้ไว้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอ่อนล้าเรื้อรังต้องประกอบด้วยอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 อาการขึ้นไป ติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน

ซึ่งได้แก่ การไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อมถอย สมาธิสั้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลัง รู้สึกว่าร่างกายและสมองเกิดความอ่อนล้า หลับไม่เต็มอิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อหลายข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เจ็บคอบ่อย ๆ และอาจจะมีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย หนาวสั่นและเหงื่อออกในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก การมองเห็นผิดปกติ แพ้หรือไวต่ออาหาร แอลกอฮอล์ กลิ่น สารเคมี ยา หรือเสียง ยืนนาน ๆ จะมีอาการเป็นลม วิงเวียน ซึมเศร้า อารมณ์ไม่แน่นอน

รศ.นพ.สามารถ กล่าวว่า กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรังเกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ แต่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และในช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 2 ใน 3 จะทำงานได้น้อยลง

หากได้พักอาการก็จะดีขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่สามารถกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ได้เหมือนเดิม มีอาการเสื่อมถอยด้านสติปัญญา รวมถึงยังมีความสามารถในการรับรู้ การพูด การใช้ภาษา และความมีเหตุผลลดลง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาใด ๆ ที่ทำให้โรคนี้หายขาดได้จึงมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 5 ที่มีโอกาสหายขาดจากการรักษาตามอาการ

รศ.นพ.สามารถ กล่าวอีกว่า แม้ว่าโรคเซ็งเรื้องรังจะยังไม่มียารักษาอาการให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยหรือบุคคลที่ส่งสัยว่าตนสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวควรทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ควรพยายามคิดแต่เรื่องดี ๆ เพราะความเครียดจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง

โรคเซ็งเรื้อรัง หรือ อาการล้าเรื้อรัง หรือ โรคซีเอฟเอส (Chronic Fatigue Syndrome = CFS) เป็นความผิดปกติซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหนื่อยล้าและอาการอื่นๆ ที่แม้การนอนหลับก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น และอาจจะแย่ลงหลังกิจกรรมทางกายภาพ (Physical activity) หรือทางจิตใจ (Mental exertion)

การวิเคราะห์ว่าเป็นโรคเซ็งเรื้อรังอาจถูกมองข้ามไป เนื่องจากอาการหลายอย่างของโรคนี้จะเหมือนอาการป่วยทั่วๆ ไป เช่น อาการอ่อนเพลีย อย่างไรก็ดีอาการอ่อนเพลียดังกล่าวจะไม่เหมือนอาการอ่อนเพลียทั่วไปที่เกิดจากงานยุ่ง อดนอน แต่ร้ายแรงกว่าเพราะเป็นอาการอ่อนเพลียที่ไม่มีแรงและไม่สามารถฟื้นได้ด้วยการนอนพักผ่อน ซึ่งจะยิ่งมีอาการแย่ลงหากมีการทำกิจกรรมทางกายภาพหรือทางจิตใจ

แหล่งข้อมูล
  1. โรคเซ็งเรื้อรัง ภัยเงียบของสุขภาพจิต http://www.dailynews.co.th/Content/Article/223438/โรคเซ็งเรื้อรัง+ภัยเงียบของสุขภาพจิต [2014, April 27].
  2. Chronic Fatigue Syndrome (CFS) http://www.cdc.gov/cfs/general/index.html [2014, April 27].