เซอร์ทราลีน (Sertraline)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เซอร์ทราลีน (Sertraline) คือ ยาต้านเศร้า,ทางคลินิกนอกจากใช้รักษา อาการซึมเศร้าแล้ว, ยังนำมาบำบัดอาการ ย้ำคิดย้ำทำ,  วิตกกังวล,  ตื่นตระหนก, ความผิดปกติที่เกิดหลังได้รับความสะเทือนใจ, รวมถึงกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน, ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน, โดยยาเซอร์ทราลีนจัดอยู่ในกลุ่มยา Selective serotonin reuptake inhibitor: SSRI, วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) โดยบริษัทไฟเซอร์,สหรัฐอเมริกา   

ยาเซอร์ทราลีน จะถูกดูดซึมอย่างช้าๆจากระบบทางเดินอาหาร, ยาในกระแสเลือดสามารถซึมผ่านเข้าตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้มาก, และผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้, ในกระแสเลือดตัวยาจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 98%, ตับเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้, ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 26 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

มีข้อมูลสำคัญๆบางประการของยาเซอร์ทราลีนที่ผู้บริโภคควรทราบ: เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาเซอร์ทราลีนขณะที่ผู้ป่วยมีการใช้ยา Pimozide, หรือเพิ่งได้รับการฉีดยา Methylene blue
  • ห้ามใช้ยาเซอร์ทราลีนกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยากลุ่ม MAOIs, ควรหยุดใช้ยา MAOIs ประมาณ 14 วันเป็นอย่างต่ำก่อนใช้ยาเซอร์ทราลีน  
  • ยาต้านเศร้า รวมถึงยาเซอร์ทราลีน สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดความคิดอยากทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยควบคู่กันไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยอย่างละเอียดทุกครั้ง ด้วยอาการป่วยบางประเภทไม่เหมาะที่จะใช้ยาเซอร์ทราลีน เช่น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก มีภาวะเลือดออกง่าย มีอาการของไบโพลาร์/โรคอารมณ์สองขั้ว หรือมีประวัติติดสาร/ยาเสพติด หรือเคยคิดฆ่าตัวตายมาก่อน
  • ผู้ที่ได้รับยานี้ อาจต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 4 สัปดาห์ขึ้นไปกว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยานี้เอง ด้วยอาจเกิดภาวะถอนยา/ ลงแดงติดตามมา
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเซอร์ทราลีนมากยิ่งขึ้น
  • ยานี้จะทำให้ความคิดการตัดสินใจช้าลง จึงควรต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากหากผู้ป่วยต้องขับขี่ยวดยานพาหนะ

ยาเซอร์ทราลีน ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆ เช่น มีอาการง่วงนอน วิงเวียน เหนื่อยง่าย คลื่นไส้เล็กน้อย และปวดท้อง   

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาเซอร์ทราลีนชนิดรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุเงื่อนไขของการใช้ยาคือ

  • ไม่ควรใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษา
  • ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์

ยาเซอร์ทราลีน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น, และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

เซอร์ทราลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาเซอร์ทราลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น     

  • รักษาอาการซึมเศร้า: ซึ่งยานี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้สูงอายุน้อยกว่ากลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าTCAs
  • บำบัดอาการย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive compulsive disorder): ซึ่งพบว่าให้ผลการรักษาได้ดีกว่ายา Clomipramine
  • บำบัดอาการตื่นตระหนก(Panic disorder): ทางคลินิกมีรายงานว่า ยาเซอร์ทราลีนรักษา อาการตื่นตระหนกได้เทียบเท่ากับยา Clomipramine, Imipramine, Clonazepam, Alprazolam, Fluvoxamine และ Paroxetine
  • รักษาอาการผิดปกติหลังได้รับความสะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder)
  • รักษาอาการกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)
  • บำบัดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน

เซอร์ทราลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซอร์ทราลีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง โดยยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อ                         ประสาทที่ชื่อว่า 5-HT (5-hydroxytryptamine)/สาร Serotonin ทำให้มีปริมาณ 5-HT ในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เรียกว่า 'ไซแนปติกเคล็ฟท์ (Synaptic cleft)' เพิ่มมากขึ้น จนมีผลลดอารมณ์ซึมเศร้าและทำให้อาการทางจิตดีขึ้น จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เซอร์ทราลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซอร์ทราลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด

เซอร์ทราลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซอร์ทราลีน มีขนาดการรับประทานขึ้นกับ แต่ละอาการโรค,และความรุนแรงของอาการ, ขนาดรับประทานจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป, ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น

ก. รักษาภาวะซึมเศร้าและอาการย้ำคิดย้ำทำ: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มรับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานในสัปดาห์ถัดมา, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 - 200 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ทั้งนี้อาการย้ำคิดย้ำทำอาจต้องใช้เวลาการรักษาหลายเดือนกว่าจะเห็นผล

ข. รักษาอาการตื่นตระหนก, อาการผิดปกติหลังได้รับความสะเทือนใจ, และอาการวิตกกังวลต่อการเข้าสังคม: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มรับประทานยาขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ต่อมา แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 - 200 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง

ค. บำบัดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง, ในช่วงที่มีประจำเดือน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 - 150 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

* อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ทางคลินิก มีการใช้ยานี้บำบัดอาการย้ำคิดย้ำทำในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 - 17 ปีโดยการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น, ส่วนอาการป่วยที่นอกเหนือจากนี้ยังไม่ มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุน การใช้ยานี้ในการบำบัดรักษาอาการอื่นๆจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นเฉพาะกรณีๆ
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา นี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นเฉพาะแต่ละกรณี
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดรับประทาน และระยะเวลาของการใช้ยาให้ลดลง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาเซอร์ทราลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น          

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซอร์ทราลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเซอร์ทราลีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

 อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยาเซอร์ทราไลน์บ่อยๆหลายครั้ง หรือหยุดการใช้ยานี้เอง  สามารถก่อให้เกิดอาการถอนยา/ลงแดงได้ (Withdrawal-like symptoms)

เซอร์ทราลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซอร์ทราลีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีภาวะนอนไม่หลับ หรือ เกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น, รวมถึงอาจ เกิดภาวะอยากทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตาย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ปวดหัว เกิดภาวะตัวสั่น  ลมชัก รู้สึกสับสน   กลุ่มอาการเซโรโทนิน   
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ มีอาการบวมตามมือ-เท้า ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ  หัวใจเต้นเร็ว   หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ปากคอแห้ง คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร  ลำไส้ใหญ่อักเสบ ลิ้นเป็นแผล เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ทั้ง เฮชดีแอล (HDL)และแอลดีแอล (LDL) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้สมรรถนะทางเพศของบุรุษถดถอย/นกเขาไม่ขัน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผื่นคัน เหงื่อมาก  ลมพิษ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง รวมถึงเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น ทำให้เอนไซม์การทำงานของตับ เช่น Serum transaminase เพิ่มสูงขึ้นในเลือด ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีรายงานว่าอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อเริมได้ง่าย
  • ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัดเจน ปวดตา รูม่านตาขยาย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คออักเสบ  คัดจมูก  มีอาการหาวบ่อย

มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ทราลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซอร์ทราลีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเซอร์ทราลีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ยกเว้นแต่อาการย้ำคิด ย้ำทำ),  การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น 
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หากผู้ป่วยมีอาการอยากทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตาย ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ควรหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOIs ประมาณ 14 วันขึ้นไป ก่อนการใช้ยาเซอร์ทราลีน
  • *กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก บวมตามร่างกาย หรือ มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว *ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ญาติต้องคอยช่วยสังเกตอาการผิดปกติหรือพัฒนาการของผู้ป่วย เพื่อมีข้อมูลที่จะเป็น ประโยชน์สำหรับแพทย์ใช้ในการปรับระดับการรักษาได้อย่างถูกต้อง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซอร์ทราลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซอร์ทราลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซอร์ทราลีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ห้ามหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา 5-hydroxytryptophan, Dextromethorphan, Tramadol, Zolmitriptan, ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน
  • การใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เสี่ยงกับการเกิดอาการชัก นอกจากนี้ ยังทำให้ระดับยาเซอร์ทราลีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาเซอร์ทราลีนตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับอาการข้างเคียงจากยา Phenylpropanolamine เพิ่มมากขึ้น เช่น มีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และวิตกกังวล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา Aspirin ด้วยอาจเกิดภาวะเลือดออกง่ายโดยเฉพาะกับผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดออกง่ายได้มากที่สุด

ควรเก็บรักษาเซอร์ทราลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเซอร์ทราลีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เซอร์ทราลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซอร์ทราลีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Selrotine (เซลโรทีน) Siam Bheasach
Serlift (เซอร์ลิฟท์) Ranbaxy
Serlin 50 (เซอร์ลิน 50) Zydus Cadila
Sertra (เซอร์ทรา) Medifive
Sertraline GPO (เซอร์ทราลีน จีพีโอ) GPO
Sertraline Sandoz (เซอร์ทราลีน แซนดอซ) Sandoz
Sisalon (ไซซาลอน) Unison
Starin (สตาริน) Atlantic Lab
Zoloft (โซลอฟท์) Pfizer

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_serotonin_reuptake_inhibitor#List_of_agents   [2022,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Sertraline#Pharmacokinetics  [2022,Dec31]
  3. https://www.drugs.com/sertraline.html  [2022,Dec31]
  4. https://www.drugs.com/dosage/sertraline.html  [2022,Dec31]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/sertraline-index.html?filter=3&generic_only=%20   [2022,Dec31]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/sertraline?mtype=generic   [2022,Dec31]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=sertraline  [2022,Dec31]