“เซลฟี” โรคจิตออนไลน์ (ตอนที่ 1)

กรมสุขภาพจิตได้ประกาศเตือนวัยรุ่นที่หลงใหลใน “เซลฟี” ว่า อาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเองและทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อชีวิตและการทำงานได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พฤติกรรมหลงตัวเองกำลังเป็นที่นิยมในหมูผู้ใช้อินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและเด็กนักเรียนที่ชอบโพสต์รูปของตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่าพฤติกรรมเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาทางจิตในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งไม่อาจประเมินได้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับชีวิต อาชีพ และการพัฒนาของประเทศได้ขนาดไหน เพราะการโพสต์รูปตัวเองเพื่อรอให้เพื่อนมากดไลค์ (Likes) ทางจิตวิทยาถือเป็นรางวัล ซึ่งเมื่อคนทำแล้วได้รับรางวัลก็จะทำอีกเรื่อยๆ

แต่ขนาดของรางวัลก็แตกต่างไปตามระดับของอารมณ์ของแต่ละคน บางคนมีความสุขหลังจากที่ได้โพสต์รูปตัวเองและมีคนกดไลค์เพียงไม่กี่คน ในขณะที่บางคนคาดหวังว่าคนจะกดไลค์ให้มากๆ จนกลายเป็นการหมกมุ่นที่จะให้คนมากดไลค์ให้

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีคนกดไลค์ให้มากอย่างที่หวัง เขาก็จะโพสต์รูปอื่นต่อไปเพื่อหวังให้ได้รับการตอบรับที่ดี สิ่งเหล่านี้อาจกระทบต่อความคิดได้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองและมีทัศนคติทางลบกับตัวเอง เช่น รู้สึกไม่ชอบหน้าตาหรือรูปลักษณ์ของตัวเอง

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การเสียเวลาในเช็คว่าใครเข้ามาดูหรือแสดงความเห็น ด้วยหวังว่าคนอื่นจะชอบนี้เป็นสัญญาณที่เซลฟีจะก่อให้เกิดปัญหาได้ ทั้งนี้จากการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) พบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนประมาณ 19 ล้านคนที่ใช้เฟสบุคส์ และ 8 แสนคนที่ใช้อินสตาแกรม

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตกล่าวว่า นักจิตวิทยาอเมริกันเห็นว่าเซลฟีสามารถทำลายความมั่นใจหรือความภาคภูมิใจในตัวเองได้ โดยองค์กรที่ดูแลสุขภาพของประชาชนในสหราชอาณาจักรได้ออกมาประกาศว่า การติดสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุคส์ และทวิตเตอร์ ถือเป็นความเจ็บป่วยประเภทหนึ่ง ซึ่งในทุกปีจะมีคนมากกว่า 100 คน ที่พยายามหาทางรักษาตัว

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปอีกว่า เพราะความเชื่อมั่นในตนเองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความพอใจในตัวเอง มีความสุข ยอมรับความจริง ไม่โหยหาความรักหรือความสนใจจากคนอื่น ดังนั้นการสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองจึงสามารถทำให้คนๆ นั้นรู้สึกกระวนกระวาย ลังเลใจ และไม่มีความสุขในชีวิต ซึ่งการอยู่ในสภาพนี้เป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแปรปรวนทางอารมณ์และจิตใจ เช่น โรคจิตหวาดระแวง (Paranoia) ขี้อิจฉา จู้จี้จุกจิก (Nitpicking) และซึมเศร้าหดหู่

นั่นหมายความว่า หากวัยรุ่นไทยขาดความมั่นใจในตนเองก็จะไม่สามารถกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้ มีแต่จะเดินตามหรือเลียนแบบคนอื่น ซึ่งทำให้การพัฒนาตัวเองเป็นไปได้ยาก การเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะเป็นไปได้ช้ากว่าคนที่มีความมั่นใจในตนเอง และอาจจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตได้ เพราะสภาวะผู้นำในคนรุ่นใหม่นั้นมีน้อยลง ทำให้ขัดขวางต่อการริเริ่มและนวัตกรรมของประเทศ

แหล่งข้อมูล:

  1. Youngsters warned over 'selfie' addiction. http://www.bangkokpost.com/news/local/394102/youngsters-warned-over-elfie-addiction [2014, February 16].