เซฟิกซิม (Cefixime)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟิกซิม(Cefixime) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 3 (Third-generation cephalosporins) ที่มีการออกฤทธิ์กว้างขวาง สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิด หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ คออักเสบ/ คอหอยอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม รวมถึง ไข้ไทฟอยด์ โดยรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซฟิกซิมเป็นยารับประทาน ที่ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 40-50% ย่าเซฟิกซิมจะมีเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่ส่วนที่เหลือของยาจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

กลไกหลักๆที่ทำให้ยาเซฟิกซิมต่อต้านแบคทีเรียได้คือ ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียนั่นเอง ซึ่งสามารถใช้ยาชนิดนี้ได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

ยาเซฟิกซิม มีข้อจำกัด ข้อควรระวัง รวมถึงข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้ที่ควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับ วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ วัคซีนวัณโรค เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนด้อยลงไป
  • ยาเซฟิกซิมสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หากรับประทานยานี้ก่อนอาหารแล้วมีอาการไม่สบายในช่องท้อง ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนมารับประทานยาหลังอาหารจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
  • มีโรคประจำตัวบางประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟิกซิม ด้วยอาการของโรคดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อใช้ยานี้ เช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • หากพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอน หลังการรับประทานยานี้ต้องเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ขณะใช้ยานี้แล้วมีอาการท้องเสียรุนแรงหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ห้ามผู้ป่วยรับประทานยาแก้ท้องเสียด้วยตนเอง ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างถูกหลักวิชาการ
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาเซฟิกซิม อาจส่งผลให้ค่าน้ำตาลในเลือด เปลี่ยนแปลงไปทั้งอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาเซฟิกซิม และยารักษาเบาหวานได้หมาะสมที่สุด
  • การใช้ยานี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นภายใน 1–2 วันหลังการใช้ยานี้ ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยานี้จนครบเทอมการรักษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของแบคทีเรีย
  • ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ห้ามนำไปรักษาอาการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราโดยเด็ดขาด
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานหรือบ่อยจนเกินไป อาจทำให้มีการติดเชื้อชนิดอื่นๆที่ไม่ตอบสนองต่อยาเซฟิกซิมแทรกซ้อนขึ้นมาได้ เช่น เชื้อรา

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเซฟิกซิมเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเงื่อนไขการใช้งานทางคลินิกดังนี้

1) ใช้เป็น Switch therapy(การเปลี่ยนแปลงการใช้ยา)ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ

2) ใช้รักษาโรคหนองในแท้เฉพาะที่อวัยวะเพศและทวารหนัก เมื่อไม่สามารถใช้ยาCeftriaxone ได้

ยาเซฟิกซิมถูกจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการซื้อยานี้มารับประทานเอง

เซฟิกซิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซฟิกซิม

ยาเซฟิกซิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของ

  • หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection)
  • โกโนเรีย/หนองใน (Gonococcal Infection - Uncomplicated)
  • ทอลซิลอักเสบ(Tonsillitis)
  • คออักเสบ/คอหอยอักเสบ (Pharyngitis)
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)

เซฟิกซิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซฟิกซิมเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย โดยตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแบ่งเซลล์ หรือกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด

เซฟิกซิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟิกซิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Cefixime 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cefixime 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เซฟิกซิมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซฟิกซิม มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง หรือรับประทานยา 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปีลงมา: รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง หรือรับประทานยา 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับรักษาหลอดลมอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง หรือรับประทานยา 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปีลงมา: รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1 ครั้ง หรือรับประทานยา 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับรักษา ทอนซิลอักเสบ /คออักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หรือรับประทานยา 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปีลงมา: รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง หรือ รับประทานยา 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ง. สำหรับรักษาหูชั้นกลางอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง หรือรับประทานยา 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปีลงมา: รับประทานยาขนาด 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง หรือรับประทานยา 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

จ. สำหรับรักษาโกโนเรีย/หนองใน(Gonococcal Infection Uncomplicated)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
  • เด็ก: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ ให้รับประทานยานี้หลังอาหาร
  • รับประทานยานี้จนครบเทอมการรักษาตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟิกซิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟิกซิมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิภาพการรักษา ต้องรับประทานยาเซฟิกซิมจนครบเทอมการรักษาตามที่แพทย์สั่ง

กรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยาเซฟิกซิมตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

เซฟิกซิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟิกซิมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิด Pseudomembranous colitis ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ ติดเชื้อราชนิด แคนดิดา(Candida)ที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน เกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะ Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ), Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง), เม็ดเลือดขาวต่ำ, มีภาวะเลือดจาง ระยะเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดเมื่อมีเลือดออกนานผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ เกิดดีซ่าน เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่มมากขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ ไตวาย

มีข้อควรระวังการใช้เซฟิกซิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟิกซิม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • การใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ผู้ป่วยอาจเกิด ภาวะท้องเสีย/ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ กรณีการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซฟิกซิมไม่สามารถรักษาได้อย่างเช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟิกซิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟิกซิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟิกซิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซฟิกซิมร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซฟิกซิมใน กระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงของยาเซฟิกซิมตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเซฟิกซิมร่วมกับวัคซีนอหิวาตกโรค ด้วยยาเซฟิกซิมจะไปลดฤทธิ์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของยาวัคซีนดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟิกซิมร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง

ควรเก็บรักษาเซฟิกซิมอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟิกซิม ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เซฟิกซิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟิกซิม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cefspan (เซฟสแปน)Astellas Pharma
Sixime (ซิซิม) Siam Bheasach

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Suprax, Cemax, Mefix, Ocexim, Cefi- DS

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefixime/?type=brief&mtype=generic[2017,June17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefixime[2017,June17]
  3. https://www.drugs.com/cdi/cefixime.html[2017,June17]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/cefixime-index.html?filter=3&generic_only=[2017,June17]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/85#item-8593[2017,June17]