เชื้อแซลโมเนลล่า มากับแคนตาลูป (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for disease control and prevention : CDC) ระบุด้วยว่า มีผู้ติดเชื้อแซลโมเนลลา (Salmonella) จากแคนตาลูป (Cantaloupe) ที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี จนถึงอายุ 100 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยของอายุอยู่ที่ 48 ปี และมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้หญิง

เชื้อแซลโมเนลลา ได้รับการตั้งชื่อตามพยาธิแพทย์ (Pathologist) ผู้ค้นพบ คือ นพ.แดลเนียล เอลเมอร์ แซลมอน (Daniel Elmer Salmon) โดยเป็นเชื้อที่สามารถอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่งโดยไม่ต้องอาศัยที่พึ่ง (Host) ส่วนใหญ่จะพบในน้ำเสีย และในอุจจาระของสัตว์ที่ติดเชื้อ

คนที่ติดเชื้อแซลโมเนลล่าส่วนใหญ่จะมีอาการท้องเสีย (Diarrhea) เป็นไข้ อาเจียน (Vomit) และปวดช่องท้อง (Abdominal cramps) 12 - 72 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ อาการป่วยจะคงอยู่ประมาณ 4 - 7 วัน และคนส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษา นอกจากดื่มน้ำให้มากเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)

อย่างไรก็ดี บางคนอาจมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมักจะได้รับสารเหลวผ่านหลอดเลือดดำ (Intravenous fluids) เพื่อรักษาอาการขาดน้ำ และอาจได้รับยาเพื่อบรรเทาอาการ อาทิ ยาลดไข้

ในกรณีรุนแรง เชื้อแซลโมเนลลาอาจจะติดเชื้อจากลำไส้ (Intestines) เข้าสู่กระแสเลือด (Blood stream) และกระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) โดย ผู้สูงอายุ ทารก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานต่ำ (Impaired immune system) มักมีโอกาสเกิดอาการป่วยที่รุนแรงได้

ผู้ป่วยท้องเสียมักกลับมามีอาการปกติได้ แม้ว่าจะใช้เวลานานหลายเดือนที่จะทำให้ช่องท้องกลับสู่สภาพปกติ มีผู้ติดเชื้อไม่กี่ราย ที่เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดข้อ เคืองตา และปวดเมื่อถ่ายปัสสาวะ เหล่านี้เป็นอาการส่วนหนึ่งของข้ออักเสบ (Reactive arthritis) อาการนี้อาจคงอยู่นานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี และสามารถทำให้เกิดข้ออักเสบอย่างเรื้อรังซึ่งรักษาได้ยาก

มีการประเมินว่าในแต่ละปีมีคนอเมริกันติดเชื้อแซลโมเนลลาประมาณ 142,000 ราย โดยติดจากไข่ไก่ และมีประมาณ 30 ราย ที่เสียชีวิต เปลือกไข่อาจติดเชื้อแซลโมเนลลาจากอุจจาระของไก่ หรือไข่แดง (Yolk) อาจติดเชื้อโดยที่แบคทีเรียเข้าไปตามรูพรุนของเปลือกไข่ หรือจากแม่ไก่ที่มีการติดเชื้อในมดลูกระหว่างไข่มีการฟอร์มตัว อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎีแล้วโอกาสการติดเชื้อในไข่แดงเป็นไปได้น้อยมาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA : Food and Drug Administration) ได้แนะนำวิธีการป้องกันอาหารเป็นพิษในผักและผลไม้ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นก่อนและหลังการจับผักและผลไม้
  • ล้างผักผลไม้ด้วยการปล่อยให้น้ำไหลผ่าน แทนการล้างในถังหรืออ่างล้าง
  • ใช้เขียงและภาชนะที่สะอาด อย่าให้ผักผลไม้สัมผัสกับอาหารดิบอื่นๆ

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกายังได้แนะนำให้ประชาชนทราบว่า แคนตาลูปส่วนใหญ่จะติดสติกเกอร์ถึงแหล่งที่มา ถ้าไม่มีให้ถามดู แต่ถ้าสงสัยไม่แน่ใจว่าแคนตาลูปมาจากฟาร์มดังกล่าวหรือไม่ ให้ทิ้งไปเลยจะดีกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. What is Salmonella? http://www.webmd.com/food-recipes/food-poisoning/ss/slideshow-salmonella [2012, August 28].
  2. Salmonella. http://en.wikipedia.org/wiki/Salmonella [2012, August 28].