เชื้อปนเปื้อน คลอสทริเดียม โบทูลินัม (ตอนที่ 2)

จากการตรวจสอบเบื้องต้น ปรากฏว่ามีเพียงบริษัท ดูเม็กซ์ ที่มีการใช้วัตถุดิบจากประเทศนิวซีแลนด์รวม 5 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้มีการเรียกเก็บจากท้องตลาดแล้วประมาณ 50 ตัน จากทั้งหมด 1,062 ตัน โดยส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม บางส่วนอาจมีตกค้าง หรืออาจมีการซื้อไปบริโภค แต่ก็จะมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

นพ.บุญชัยกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบริษัทอื่นๆ ยังไม่ได้รับการยืนยันว่านำเข้าหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้นำเข้าในรูปเวย์โปรตีน แต่เป็นมิลค์เบส (Milk based product) หรือวัตถุกึ่งสำเร็จรูป โดยผสมหางนมมาแล้ว ทำให้ตรวจสอบยาก จึงมอบให้ผู้ประกอบการทั้งหมด รวมทั้งทางสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็กไปตรวจสอบข้อมูลว่ามีตัวเลขการ นำเข้าทั้งเวย์โปรตีน และมิลค์เบส จำนวนเท่าใด ในส่วนของเครื่องดื่มผสมเวย์โปรตีนที่ใช้ในการเพาะกาย เล่นกล้าม พบว่ามี 3 รายการที่นำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ แต่ไม่ใช่ล็อตที่มีปัญหา จึงไม่ต้องกังวล

โบทูลิซึมจะยั้บยั้งการสร้างสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ของระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอัมพาต (Paralysis) อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เกิดจากโบทูลิซึมจะเริ่มที่เส้นประสาทสมองทั้ง 12 คู่ (Cranial nerves) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตา กล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคี้ยวและการกลืน การเห็นภาพซ้อน หนังตาตก การสูญเสียการควบคุมใบหน้า และมีปัญหาในการกลืนพอๆ กับปัญหาในการพูด ล้วนเกิดขึ้นได้ หลังจากนั้นอาการอ่อนแรงจะกระจายไปที่แขน (เริ่มที่หัวไหล่ไปที่ปลายแขน) และที่ขา (เริ่มจากต้นขาไปยังปลายเท้า)

ในรายที่อาการรุนแรง โบทูลิซึมจะทำให้เกิดอัมพาตกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจซึ่งเป็นสาเหตุให้ระบบการหายใจล้มเหลว ในกรณีที่มีผลต่อกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary muscles) อาจทำให้เกิดการขัดขวางต่อระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการปากแห้งและคอแห้ง (เพราะมีการผลิตน้ำลายน้อย) ความดันตกในท่ายืน (Postural hypotension) หรือแม้แต่อาการท้องผูก (เพราะเกิดจากการบีบตัวของทางเดินอาหารที่ลดลง) สารพิษบางชนิด (B และ E) ก็เร่งให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน

โบทูลิซึมในเด็ก (Infant botulism) เป็นที่รู้จักกันครั้งแรกในปี 2519 และพบมากในสหรัฐอเมริกา เด็กทารกจะไวต่อการรับโบทูลิซึมในช่วงขวบปีแรก และมากกว่าร้อยละ 90 เกิดในตอนที่เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน โบทูลิซึมในเด็กเป็นผลจากการกินสปอร์คลอสทริเดียม โบทูลิซึม (Clostridium botulinum spores) เข้าไปในแล้วเกิดการเพิ่มจำนวนในลำไส้เล็กที่ควบคุมไม่ได้

การเติบโตของสปอร์จะทำให้เกิดพิษโบทูลิซึมซึ่งจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดแพร่ไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการเป็นอัมพาตเพราะไปยับยั้งการหลั่งสารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่รอยต่อกล้ามเนื้อร่วมประสาท (Neuromuscular junction) อาการของโบทูลิซึมในเด็ก ได้แก่ ท้องผูก เซื่องซึม (Lethargy) อ่อนแรง กินอาหารยาก ร้องไห้บ่อย และค่อยๆ เป็นกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียก (Flaccid paralysis)

น้ำผึ้งเป็นอาหารชนิดเดียวที่มีเชื้อคลอสทริเดียมโบทูลิซึมที่ทำให้เกิดโบทูลิซึมในเด็ก ดังนั้นจึงไม่ควรให้น้ำผึ้งกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้เด็กอาจได้รับโบทูลิซึมจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเพราะคลอสทริเดียม โบทูลิซึม (Clostridium botulinum) เป็นสิ่งที่พบทั่วไปในดิน และมีการพบผู้ป่วยเด็กหลายคนที่อาศัยอยู่ใกล้สถานที่ก่อสร้างหรือบริเวณที่มีดิน มีรายงานการเกิดโบทูลิซึมในเด็ก 49 รัฐจาก 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา และพบใน 26 ประเทศใน 5 ทวีป

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.ออกมาตรการเข้มนำเข้านมผงนิวซีแลนด์ ต้องมีใบรับรองชัดhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375785078&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, September 13].
  2. Botulism - http://en.wikipedia.org/wiki/Botulism. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 13].