เชื้อปนเปื้อน คลอสทริเดียม โบทูลินัม (ตอนที่ 1)

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงมาตรการรองรับการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย คลอสทริเดียม โบทูลินัมในอาหาร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุมกว่า 30 ราย อาทิ บริษัทผู้ผลิตนม สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สถานทูตนิวซีแลนด์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น

นพ.บุญชัยกล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใดที่ใช้เวย์โปรตีน (Whey Protein Concentrate = WPC) หรือหางนมชนิดเข้มข้นเป็นส่วนประกอบในการผลิตนมผงหรือไม่ รวมทั้งใช้ในการผลิตเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มสร้างกล้ามเนื้อสำหรับนักเพาะกาย เป็นต้น

เชื้อแบคทีเรีย คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน แกรมบวก (Anaerobic Gram-positive bacillus) สร้างสปอร์ได้ มีลักษณะเป็นรูปแท่ง สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษในสภาวะที่ไร้ออกซิเจน (Anaerobic conditions) ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และปลา ซึ่งหากเกิดในสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ นก จะเรียกว่า Limberneck

สารพิษที่สร้างจากเชื้อนี้มี 7 ชนิด คือ A, B, C [C1, C2], D, E, F, and G สารพิษ 4 ชนิด คือ A B E และ F สามารถก่อโรคได้ในคน ในขณะที่สารพิษชนิด C และ D ก่อโรคในสัตว์ ส่วนสารพิษชนิด G มักไม่ทำให้เกิดโรค แต่อาจพบได้ในคน

สารพิษบางชนิด (ชนิด A และบางส่วนของชนิด B และชนิด F) ทำให้เกิดกลิ่นเน่าและย่อยเนื้อได้ หรือที่เรียกว่าเอนไซม์ย่อยโปรตีน (Proteolytic) ในขณะที่สารพิษชนิด B, C, D and F ไม่สามารถย่อยโปรตีนได้ (Nonproteolytic) และไม่สามารถสังเกตได้เพราะไม่มีกลิ่น

สารพิษจะถูกสร้างเมื่อแบคทีเรียอยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวย โดยจะมีการสร้างสปอร์ในอุณหภูมิที่อุ่น มีแหล่งโปรตีน อยู่ในสภาวะที่ไร้ออกซิเจน และมีความชื้น พืชผักและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังในป่า ภายหลังจากการเน่าเปื่อยย่อยสลายตามธรรมชาติในสภาพอากาศอบอุ่น จะทำให้เกิดสารพิษในนกและสัตว์ได้ ทั้งนี้ การต้มไม่สามารถฆ่าสปอร์ให้ตายได้

สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง อย่างแรก คือ ทางเดินอาหาร ซึ่งหากเกิดในเด็กจะเรียกว่า โบทูลิซึมในเด็ก (Infant botulism) หรือถ้าเกิดในผู้ใหญ่จะเป็นโรคลำไส้เป็นพิษโบทูลิซึมในผู้ใหญ่ (Adult intestinal toxemia botulism) อย่างที่ 2 คือ จากอาหาร หรือที่เรียกว่า โรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม (Foodborne botulism) และอย่างสุดท้ายคือ จากบาดแผล หรือที่เรียกว่า โรคโบทูลิซึมที่บาดแผล (Wound botulism) แต่ไม่มีการพบว่าสารพิษนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

การเก็บรักษาอาหารไม่ถูกสุขลักษณะเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นโรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม ปลาที่ดองโดยไม่ใส่สารละลายที่ประกอบด้วยน้ำเกลือหรือปลารมควันที่เก็บในที่อุณหภูมิสูงเกินไป หรืออาหารกระป๋องที่ไม่ได้คุณภาพ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสารพิษนี้ นอกจากนี้ไม่ควรให้น้ำผึ้งในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เนื่องจากพบว่าสปอร์ของเชื้อจะเพิ่มจำนวนในทางเดินอาหารและสามารถสร้างสารพิษในเวลาต่อมา

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.ออกมาตรการเข้มนำเข้านมผงนิวซีแลนด์ ต้องมีใบรับรองชัดhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375785078&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, September 12].
  2. Botulism - http://en.wikipedia.org/wiki/Botulism. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 12].