เจ็บเต้านม (Breast pain)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เจ็บเต้านม หรือ อาการเจ็บเต้านม (Breast pain หรือ Breast tenderness หรือ Mastalgia หรือ Mastodynia)คืออาการที่รู้สึกเกิด เจ็บ/ปวดในเต้านม ในส่วนใดของเต้านมก็ได้ที่รวมถึงหัวนม อาการเจ็บมักเกิดจุดเดียวแต่อาจกระจายไปรอบๆเนื้อเยื่อส่วนอื่นของเต้านมจนขอบเขตที่เจ็บไม่ชัดเจน อาจรู้สึกเจ็บ ดึงรั้ง เจ็บตื้อๆ หรือเจ็บแปลบ อาการจะเกิดอยู่นานเป็นพักๆ หรืออาจเกิดทันทีแล้วหายไป หรือเจ็บเรื้อรัง เป็นๆหายๆ หรือมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การมีประจำเดือน ทั่วไปมักไม่มีสารคัดหลั่งผิดปกติออกมาจากหัวนม การเจ็บเต้านมนี้อาจร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับสาเหตุ เช่น บวม ตึง แดง ร้อน อาจเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว หรือทั้ง2ข้าง และเมื่อเกิดซ้ำอาจเป็นข้างเดิม หรืออีกข้างก็ได้ ขึ้นกับสาเหตุเช่นกัน ทั้งนี้ ทั่วไปมักคลำไม่พบมีก้อนเนื้อร่วมด้วย

สาเหตุของเจ็บเต้านม อาจเกิดจากตัวเต้านมเอง หรือ จากเนื้อเยื่อ/อวัยวะนอกเต้านมก็ได้ หรือบ่อยครั้ง แพทย์หาสาเหตุไม่พบ แต่น้อยมากๆๆที่เกิดจากมะเร็งเต้านม ซึ่งถ้า เกิดจากมะเร็ง มักต้องคลำได้ก้อนในเต้านมร่วมด้วย

เจ็บเต้านม เป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่งของผู้หญิง ประมาณว่า 70% ของผู้หญิง อย่างน้อยในชีวิตต้องมีอาการนี้ ทั้งนี้ อาการเจ็บเต้านมในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเจ็บเต้านมในช่วงให้นมบุตรซึ่งเกิดจากการคั่งของน้ำนมที่เรียกว่า ภาวะนมคัด (Breast engorgement)

อาการเจ็บเต้านมมักพบในผู้หญิง แต่ในผู้ชายอาจมีอาการเจ็บเต้านมได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้หญิงมากและมักไม่ก่อปัญหาให้ต้องมาพบแพทย์ โดยในผู้ชายมักเกิดในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการเจริญเติบโตของเต้านมเท่านั้น(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ผู้ชายมีเต้านม’)

ทั้งนี้ ในบทความนี้ จะกล่าวถึง อาการเจ็บเต้านมเฉพาะใน’ผู้หญิง’เท่านั้น

 

อาการเจ็บเต้านมมีกี่ชนิด? แต่ละชนิดมีสาเหตุจากอะไร?และมีอาการอย่างไร?

เจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม/ชนิด คือ กลุ่มที่อาการสัมพันธ์กับประจำเดือน และกลุ่มที่อาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน

ก. กลุ่มอาการสัมพันธ์กับประจำเดือน(Cyclical breast pain): เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ในช่วงตกไข่ (ช่วงกลางของวงรอบประจำเดือน) หรือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการเจ็บเต้านมจะหายไปเมื่อประจำเดือนมาแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะเป็นผู้ป่วยอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธ์ หรือ วัยยังมีประจำเดือน และมักเป็นต่อเนื่องตลอดระยะช่วงยังมีประจำเดือน เพียงแต่บางเดือนอาการมาก บางเดือนอาการน้อย โดยอาการมักเกิดกับเต้านมทั้งสองข้างพร้อมๆกัน แต่อาการเจ็บมากน้อยอาจต่างกันในแต่ละข้าง และมักเป็นการเจ็บทั่วทั้งเต้านม โดยอาจร้าวมายังรักแร้ได้ ยกเว้นบางคนอาจเจ็บเพียงจุดใดจุดหนึ่งของเต้านม

ข.กลุ่มอาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน (Non-cyclical breast pain): เป็นอาการเจ็บเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน มักพบในวัยหมดประจำเดือน/วัยทอง แต่ก็พบในวัยอื่นๆได้เช่นกัน โดยทั่วไปมักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว และมักเกิดเฉพาะจุดในเต้านม แต่ก็พบเกิดทั้งเต้านมได้ ทั้งนี้อาการเจ็บเต้านมซึ่งไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนนี้ เกิดได้จากสาเหตุใหญ่ๆ 2 กลุ่มสาเหตุ คือ จากโรคของเต้านมเอง และจากโรคของผนังหน้าอก

ข.1 จากโรคของเต้านมเอง(Non-cyclical breast pain) เช่น

  • จากก้อนเนื้อเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • จากถุงน้ำในเต้านม
  • จากเต้านมอักเสบติดเชื้อ
  • จากเต้านมได้รับอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทก
  • จากกินยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน หรือ ยารักษาทางจิตเวชบางชนิดที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เต้านม
  • โรคตับเรื้อรัง/โรคตับแข็ง เพราะโรคดังกล่าวส่งผลให้ในร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อเต้านม และ
  • การดื่มสุราเรื้อรังเพราะก่อให้เกิดสารบางชนิดที่มีผลต่อเซลล์เต้านมที่ทำให้เกิดการเจ็บเต้านมได้

ข.2 จากโรคของผนังหน้าอก(Chest wall pain) เช่น จากปัญหาของกระดูก หรือ กล้ามเนื้อ หรือ เส้นประสาทผนังหน้าอก หรือ โรคติดเชื้อที่ผิวหนังในส่วนเต้านมหรือที่ผนังหน้าอก ซึ่งก่ออาการเจ็บผนังหน้าอก แต่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นการเจ็บเต้านม เช่น โรคของกระดูกคอ หรือ ข้อไหล่แล้วเจ็บร้าวลงผนังหน้าอก หรือ โรคงูสวัด ซึ่งอาการในกลุ่มนี้มักเกิดร่วมกับมีการเคลื่อนไหวเต้านม ผนังหน้าอก กล้ามเนื้อข้อ/ผนังหน้าอก และมักมีประวัติกล้ามเนื้อหน้าอกบาดเจ็บ เช่น ถูกกระแทก ยกของหนัก นอนทับนานๆ หรือมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง/โรคผิวหนังที่ผนังหน้าอก

ปัจจุบัน แพทย์หลายท่าน แยกการเจ็บเต้านมกลุ่มที่สาเหตุเกิดจากโรคผนังหน้าอกออกมาเพิ่มเป็นอีกกลุ่ม แพทย์กลุ่มนี้จึงแบ่งอาการเจ็บเต้านมเป็น 3 กลุ่มคือ

  • กลุ่มอาการสัมพันธ์กับประจำเดือน
  • กลุ่มอาการไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากโรคของผนังหน้าอก(ข้อ ข.1)
  • กลุ่มเกิดจากโรคของผนังหน้าอก(ข้อ ข.2)

อนึ่ง บางครั้งแพทย์หาสาเหตุของอาการเจ็บเต้านมไม่ได้ ซึ่งอาการเจ็บเต้านมจากไม่ทราบสาเหตุนี้ อาการมักหายได้เอง และมักเป็นๆหายๆ

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการร่วมอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นกับเต้านม ซึ่งจะเป็นไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น

  • มีไข้ และเต้านมบวม แดง ร้อน เมื่อเกิดจากเต้านมอักเสบติดเชื้อ
  • มีน้ำเลือด หรือ น้ำเหลืองไหลจากหัวนมเมื่อเกิดจากมีก้อนเนื้อในท่อน้ำนม และ/หรือ
  • การคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ เป็นต้น

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเจ็บเต้านม?

ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเจ็บเต้านม ได้แก่

  • มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า
  • การดื่มกาแฟมาก/ ติดกาแฟ
  • สูบบุหรี่
  • ใช้ฮอร์โมนเพศในการรักษาโรคต่างๆ เช่น วัยหมดประจำเดือน โรคกระดูกพรุน กระดูกบาง
  • บางคนอาจสัมพันธ์กับ การกินอาหารเสริม หรือผลิตพันธ์เสริมอาหารในกลุ่มที่มีฮอร์โมนเพศ
  • ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิด
  • เคยมีการบาดเจ็บที่เต้านม เช่น เต้านมถูกกระแทก
  • เคยมีการผ่าตัดที่เต้านม
  • มีประวัติให้นมบุตรบ่อย เช่น นานเกิน 6 เดือน หรือมีบุตรมาก
  • เป็นโรคของเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม เช่น ถุงน้ำในเต้านม โรคพังผืดในเต้านม(Fibrocystic disease)
  • เนื้อเยื่อเต้านมเป็นชนิดมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ไม่ใช่เนื้อเยื่อไขมันสูง(Dense breast) ที่ตรวจพบจากการตรวจแมมโมแกรมและ/หรืออัลตราซาวด์เต้านม

 

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุการเจ็บเต้านมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของการเจ็บเต้านมโดย อายุ เพราะเมื่อเกิดอาการในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 30 ปี แพทย์มักไม่นึกถึงโรคมะเร็ง ประวัติอาการ ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยาต่างๆ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การจดบันทึกอาการเจ็บเต้านมเพื่อดูความสัมพันธ์กับประจำเดือน การตรวจร่างกาย การตรวจคลำเต้านม และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ อาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพรังสีเต้านม แมมโมแกรม (Mammogram) และ/หรือ อัลตราซาวด์เต้านม บางครั้งอาจเป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ การเจาะ ดูดเซลล์จากรอยโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา เมื่อพบมีก้อนเนื้อ หรือ มีถุงน้ำในเต้านม

 

รักษาอาการเจ็บเต้านมอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการเจ็บเต้านม คือ

  • การอธิบายให้เข้าใจ เมื่ออาการสัมพันธ์กับประจำเดือน
  • การรักษาสาเหตุ เช่น
    • ปรับเปลี่ยนยาเมื่ออาการเกิดจากยา
    • การกินยาปรับสมดุลฮอร์โมน เมื่ออาการเกิดจากความผิดปกติในสมดุลของฮอร์โมน
    • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย
    • การผ่าตัดเมื่ออาการเกิดจากมีก้อนเนื้อ
  • การรักษาตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นต้น

 

อาการเจ็บเต้านมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการเจ็บเต้านม ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป ไม่รุนแรง และมักหายได้เอง โดยอาจกินยาแก้ปวดเพียงครั้งคราว

 

อาการเจ็บเต้านมเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมไหม?

อาการเจ็บเต้านม ไม่ใช่อาการสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม อาการสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม คือ การคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมซึ่งบางครั้งอาจร่วมกับอาการเจ็บเต้านมได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษารายงานว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บเต้านมเพียงอาการเดียวโดยตรวจคลำไม่พบก้อนเนื้อ เพียงประมาณ 5% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม ได้แก่

  • แยกให้ได้ว่าเป็นการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ โดยการจดบันทึกอาการและการมีประจำเดือน
  • กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • สวมใส่ยกทรงที่พอเหมาะ สวมใส่ยกทรงเฉพาะใช้ในการเล่นกีฬาเมื่อออกกำลังกาย
  • ในบางคน การลดอาหารไขมัน ช็อกโกแลต หรือ กาแฟ หรือ กินวิตามิน อี เสริมอาหาร อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนได้
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่
    • อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังกินยาแก้ปวด หรือหลังการดูแลตนเองด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวแล้ว
    • มีอาการปวดต่อเนื่อง
    • อาการปวดเป็นหายๆเรื้อรัง
    • คลำพบก้อนในเต้านม
    • มีน้ำนมทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
    • มีสารคัดหลั่งเป็นเลือดออกจากหัวนม
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 7 วัน เมื่อ
    • คลำก้อนเนื้อได้ในเต้านม
    • มีน้ำเลือด หรือ น้ำเหลือง หรือ สารคัดหลั่งผิดปกติจากหัวนม
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 วันเมื่อ มีอาการของเต้านมติดเชื้อ ได้แก่ เต้านม บวม แดง ร้อน และ/หรือ ร่วมกับมีไข้

 

ป้องกันการเจ็บเต้านมได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว ยังไม่มีวิธีป้องกันอาการเจ็บเต้านม แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงให้เจ็บเต้านม(ดังกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’) อาจช่วยลดการเจ็บเต้านมลงได้บ้าง เช่น

  • การระมัดระวังอุบัติเหตุ
  • การมีสุขภาพจิตที่ดี
  • ไม่ดื่มกาแฟจัด
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่ใช้ ยา อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พร่ำเพื่อ ควรปรึกษา แพทย์ เภสัชกรก่อนซื้อใช้เอง และ
  • เมื่อเป็นคนมีเต้านมขนาดใหญ่ การใส่เสื้อยกทรงที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงออกกำลังกาย อาจช่วยได้บ้าง

 

บรรณานุกรม

  1. Eren,T. et al. Breast Care 2016;11:188–193
  2. Marrow, M. Am Fam Physician 2000;61: 2371-2378
  3. Rosolowich, R. et al. (2006). Mastalgia. J Obstet Gynecol Can.2006;28, 49-71
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Breast_pain [2018,Oct6]
  5. http://www.medscape.com/viewarticle/477670_1 [2018,Oct6]
  6. https://sogc.org/wp-content/uploads/2013/01/170E-CPG-January20061.pdf [2018,Oct6]