เจ็บลึก เจ็บนาน (ตอนที่ 2)

เจ็บลึกเจ็บนาน-2

      

      ภาวะความเครียดผิดปกติหลังเหตุสะเทือนใจ หรือ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post Traumatic Stress Disorder = PTSD) เป็นภาวะป่วยทางจิตหลังจากประสบกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง การได้รับการดูแลรักษาเป็นสิ่งสำคัญในการลดอาการและต้องใช้เวลาในการปรับตัว

      PTSD อาจเกิดกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์โดยตรงหรือผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ โดยปกติทั่วไปหลังเกิดเหตุการณ์อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่กรณีของผู้ที่มีภาวะ PTSD อาการอาจจะอยู่นาน 1 เดือน หรือบางครั้งอาการอาจไม่ปรากฏอาการในตอนแรกแต่ใช้เวลาเป็นปีจึงปรากฏ จนก่อให้เกิดปัญหาในสังคม ในการทำงาน และในเรื่องความสัมพันธ์ ทั้งยังรบกวนความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

      อาการของ PTSD ทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

      1. ความทรงจำที่คอยรบกวน (Intrusive memories) ซึ่งอาจมีอาการดังนี้

  • ความทรงจำจากเหตุการณ์ที่เจ็บปวดกลับมาให้นึกถึงซ้ำๆ
  • หวนคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตเหมือนเกิดขึ้นอีกครั้ง (Flashbacks)
  • ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ภยันตรายนั้นๆ
  • มีความเศร้าเสียใจอย่างรุนแรงหรือมีปฏิกริยาทางร่างกายเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ

      2. หลีกเลี่ยง (Avoidance) ซึ่งอาจมีอาการดังนี้

  • พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการคิดหรือการพูดเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ
  • หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ การทำกิจกรรม การติดต่อกับผู้คน ที่จะทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ

      3. มีความคิดและอารมณ์ไปในทางลบ (Negative thought and mood changes) ซึ่งอาจมีอาการดังนี้

  • มีความคิดด้านลบเกี่ยวกับตัวเอง คนอื่น หรือโลก
  • สิ้นหวังในอนาคต
  • มีปัญหาเรื่องความจำ ตลอดจนไม่สามารถจำช่วงสำคัญของเหตุการณ์ภยันตรายได้
  • มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดด้วยยาก
  • รู้สึกแตกแยกจากครอบครัวและเพื่อนฝูง
  • ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
  • มีอารมณ์ด้านลบ
  • มีอารมณ์เย็นชา ไร้ความรู้สึก (Emotional apathy)

แหล่งข้อมูล:

  1. Post-traumatic stress disorder (PTSD).https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/post-traumatic-stress-disorder/symptoms-causes/syc-20355967 [2018, July 26].
  2. Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD). https://www.helpguide.org/articles/ptsd-trauma/ptsd-symptoms-self-help-treatment.htm [2018, July 26].