เจ็บลึก เจ็บนาน (ตอนที่ 1)

เจ็บลึกเจ็บนาน-1

      

      นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการดูแลด้านจิตใจแก่นักท่องเที่ยวจากเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้โดยสารทั้งหมด 105 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ช่วยเหลือได้ 49 คน พบศพแล้ว 42 ศพ ยังสูญหายอีกจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการค้นหาว่า

      กรมสุขภาพจิตได้จัดส่งทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ในการให้การปฐมพยาบาลทางใจแก่ผู้ประสบภัยและญาติที่รอดชีวิต

      โดยปัญหาที่ต้องเร่งป้องกันขณะนี้คือ ภาวะความเครียดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นกลไกปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการสูญเสียหรือการเผชิญเหตุรุนแรง ต้องได้รับการปฐมพยาบาลทางใจอย่างรวดเร็ว ลดความเครียดให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อผลในการปรับตัวก้าวผ่านเหตุวิกฤติได้เร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาวคือการเกิดบาดแผลทางใจ หรือที่เรียกว่าภาวะพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder = PTSD) ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมาก

      ผลการเยียวยาจิตใจผู้บาดเจ็บที่พักรักษาตัวทั้ง 9 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 5 คน ซึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต 3 คน และอยู่ที่โรงพยาบาลองค์การบริการส่วนจังหวัดภูเก็ต 6 คน พบว่าทุกคนยังมีอาการหวาดกลัว เสียใจ วิตกกังวล นอนหลับไม่สนิท มีความรู้สึกเหมือนนั่งในเรือ

      บางคนมีการเศร้า เหม่อลอย ร้องไห้ และพบว่าญาติจำนวน 2 คน มีอาการโศกเศร้าเสียใจ เครียดอยู่ระดับสูง โดยทีมเยียวยาฯ ได้สอนทักษะการคลายเครียดเบื้องต้น และให้คำแนะนำการดูแลจิตใจตนเองซึ่งจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรวมทั้งญาติทั้งหมดนี้ ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการประสานส่งต่อกับทางการจีน ที่มีความร่วมมือกันในด้านการพัฒนาสุขภาพจิตอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจิตใจอย่างต่อเนื่องเมื่อเดินทางกลับประเทศไปแล้ว

      ทางด้านนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในการจัดแผนเยียวยาปฐมพยาบาลใจผู้ประสบภัยจากเหตุเรือล่มครั้งนี้ จะเน้นผู้ได้รับผลกระทบ 4 กลุ่มได้แก่ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่รอดชีวิตหรือเห็นเหตุการณ์

      นายแพทย์จุมภฎ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวิกฤติ จะมีปฎิกิริยาออกมา 4 ด้าน คือ

  • ด้านร่างกาย เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ ปั่นป่วน หมดกำลัง
  • ด้านพฤติกรรมหรือการแสดงออก เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ฝันร้าย ร้องไห้ หวาดระแวง แยกตัวเองออกจากสังคม
  • ด้านอารมณ์ เช่น ไม่ยอมรับในสิ่งที่เห็น วิตกกังวล กลัว เศร้า ระทมทุกข์ ไร้ความหวัง รอดชีวิตมาแต่รู้สึกผิด
  • ด้านการรับรู้ อาทิ สับสน ความคิดอ่านแย่ลง ภาพความทรงจำผุดมาบ่อยๆ

      โดยอาการเหล่านี้จะปรากฏหลังเกิดเหตุ และจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ ซึ่งการปรับตัวเร็วช้านั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางใจเดิมของแต่ละคนด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมสุขภาพจิต เร่งป้องกัน “ภาวะเครียดเฉียบพลัน”ผู้บาดเจ็บ-ญาติจากเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต ใกล้ชิด. http://www.prdmh.com/ข่าวสาร/ข่าวแจกกรมสุขภาพจิต/1145-กรมสุขภาพจิต-เร่งป้องกัน-“ภาวะเครียดเฉียบพลันใน”ผู้บาดเจ็บ-ญาติจากเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต-ใกล้ชิด.html [2018, July 25].