เจ็บปวดจากมือถือ (ตอนที่ 1)

เจ็บปวดจากมือถือ

นพ.ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ-โรคกระดูกสันหลัง เปิดเผยว่า การเล่นโทรศัพท์นานๆ นอกจากจะมีปัญหาด้านสายตาแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อคอ ไหล่ และกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็น Text Neck Syndrome ได้

นพ.ภัทร กล่าวว่า Text Neck Syndrome คือกลุ่มอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และไหล่ และอาจรวมไปถึงความเสื่อมของกระดูก ข้อต่อกระดูก หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอได้ โดยปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการบาดเจ็บซ้ำซากบริเวณคอ ซึ่งเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ต่างๆ เป็นเวลานานเกินไป

สำหรับอาการของ Text Neck Syndrome จะมีอาการปวดเรื้อรังบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก ในรายที่เป็นมากนั้น อาจจะมีอาการชา ปวดร้าวจากคอไปยังมือ หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและมือได้ โดยอาการผิดปกติดังกล่าวนั้น อาจจะดีขึ้นชั่วคราวหลังจากผู้ป่วยรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัด แต่อาการจะกลับมาเป็นใหม่ เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือในลักษณะเดิมๆ อีก

นพ.ภัทร กล่าวต่อว่า ความรุนแรงของ Text Neck Syndrome นั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ เช่น มีการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า สะบัก และหัวไหล่ ไปจนถึงปัญหาที่มีความรุนแรง เช่น มีความเสื่อมของแนวกระดูกหรือหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งก่อให้เกิดการกดทับของไขสันหลังหรือรากประสาทบริเวณคอ ทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนและมือได้

นพ.ภัทร อธิบายถึงสาเหตุที่การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ ในแต่ละวันสามารถก่อให้เกิด Text Neck Syndrome นั้น เป็นเพราะขณะที่เราใช้งานโทรศัพท์มือถือ ร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม นั่นคือ ท่าทีศีรษะโน้มมาทางด้านหน้า ไหล่สองข้างห่อและก้มหลัง

ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ยิ่งเรามีมุมในการก้มศีรษะมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีแรงกดดันในคอเพิ่มขึ้นเท่านั้น กล่าวว่า หากอยู่ในท่าปกติ ศีรษะของมนุษย์จะมีน้ำหนักประมาณ 10-12 ปอนด์ (4.55-5.45 กิโลกรัม) แต่หากมีการก้มศีรษะเป็นมุม 15 องศา แรงกดบริเวณคอจะเพิ่มเป็น 27 ปอนด์ (12.27 กิโลกรัม) ที่มุม 45 องศา แรงกดบริเวณคอจะเพิ่มเป็น 49 ปอนด์ (22.27 กิโลกรัม) และที่มุม 60 องศา แรงกดบริเวณคอจะเพิ่มเป็น 60 ปอนด์ (27.27 กิโลกรัม) ซึ่งแรงกดนี้สามารถทำให้หมอนกระดูก (Disc) ฉีกขาดได้ หรือทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)

นพ.ภัทร กล่าวถึง วิธีป้องกัน Text Neck Syndrome ว่าสามารถทำได้โดยการปรับนิสัยการใช้งานโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการใช้งาน หรือระยะเวลาที่ใช้งาน โดยเราควรจะพยายามให้ท่าทางของคออยู่ในแนวตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ก้มหลังและไม่ห่อไหล่ในขณะที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ และมีการพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะในขณะที่มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องเป็นเวลานาน

สำหรับ Dr Dean L. Fishman นักบำบัดโรคด้วยการจับกระดูกสันหลัง (Chiropractor) ชาวอเมริกัน กล่าวว่า โรค “Text neck” (โรคไหล่ห่อคอตก) เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ศีรษะก้มลงไปข้างหน้าเพื่อจ้องดูอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเป็นเวลานาน ซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ จนทำให้เป็นผลต่อสุขภาพ กล่าวคือ ยิ่งก้มคอก็ยิ่งทำให้คอต้องรับน้ำหนักมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดหลังช่วงบน ปวดไหล่ ปวดคอ และกระดูกสันหลังงอมากขึ้น

แหล่งข้อมูล

  1. เล่นมือถือมากไปเสี่ยงเป็น Text Neck Syndrome. http://dailynews.co.th/it/341779 [2015, September 7].
  2. 'Text Neck' and Other Tech Troubles. http://www.webmd.com/pain-management/news/20141124/text-neck [2015, September 7].
  3. Could You Have ‘Text Neck’ Syndrome? http://www.healthxchange.com.sg/healthyliving/HealthatWork/Pages/Could-You-Have-Text-Neck-Syndrome.aspx [2015, September 7].
  4. A Modern Spine Ailment: Text Neck. http://www.spine-health.com/blog/modern-spine-ailment-text-neck [2015, September 7].