เจาะสัก ร่างกาย ระวังไวรัสตับอักเสบซี (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

พล.ต.นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ เลขาธิการมูลนิธิโรคตับ กล่าวอีกว่า ผู้ถูกตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (c) แพทย์จะทำการประเมินการรักษา ถ้ามีแนวโน้มว่า โรคจะพัฒนาไปเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยา อินเตอร์เฟอรอน (Pegylated interferon) โดยฉีดสัปดาห์ละครั้ง ร่วมกับยารับประทานนาน 24 - 28 สัปดาห์

ท่านอาจได้รับการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า

  • ตับถูกทำลายไปเท่าไร
  • สภาพร่างกายส่วนอื่นเป็นอย่างไร
  • มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในร่างกายเท่าไร
  • ติดเชื้อชนิดไหน
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วยยานั้นมีราคาแพง มีผลข้างเคียงมาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้ได้ผล ถ้าผลเลือดและผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตับ (Liver biopsy) แสดงว่าตับยังไม่ถูกทำลาย ท่านอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา

ถ้าผลปรากฏว่าตับถูกทำลาย ท่านอาจต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อสู้กับเชื้อไวรัส องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA = Food and drug administration) ได้อนุมัติให้ใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี

  • Pegylated interferon alfa-2a
  • Pegylated interferon alfa-2b
  • Ribavirin
  • Standard interferon alfa
  • Incivek
  • Victrelis

หากโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแย่ลง อาจเป็นสาเหตุให้ตับหยุดทำงาน หรือที่เรียกว่า ตับวาย (Liver failure) ในกรณีนี้การปลูกถ่ายตับ (Liver transplant) อาจเป็นหนทางเดียวในการยืดชีวิตออกไปได้ แต่หากว่าท่านดื่มแอลกอฮอล์ มีภาวะซึมเศร้า (Depression) อย่างแรง หรือมีอาการป่วยทางจิตใจ การเปลี่ยนถ่ายตับก็อาจไม่มีประโยชน์

จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบซีจะต้องดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อไม่ให้ตับถูกทำลายและทำให้รู้สึกดีขึ้น นอกจากการออกกำลังกาย การกินอาหารให้ถูกต้อง การรับการรักษาและการทำจิตใจให้เบิกบานแล้ว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การระมัดระวังในการใช้ยา การดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้เพราะตับเป็นตัวกรองของเสียออกจากเลือด ในขณะที่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตับลดน้อยถอยลง ด้วยเหตุนี้การใช้ยาต่างๆ สมุนไพร และแอลกอฮอล์ อาจทำให้ตับต้องทำงานมากขึ้น

แม้แต่ยาแก้ปวดและยาแก้หวัดธรรมดาอย่าง แอสไพริน พาราเซตามอล /อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ก็สามารถทำให้เกิดพิษต่อตับ ในคนที่ตับถูกทำลายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่อาหารเสริมอย่างวิตามินเอและวิตามินดี ในปริมาณที่มากก็มีโทษต่อตับเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนผู้ชื่นชอบเจาะ-สักร่างกาย ระวังไวรัสตับอักเสบซีมาเยือน http://www.thairath.co.th/content/life/318242 [2013, January 15].
  2. Treatment Overview. http://www.webmd.com/hepatitis/hepc-guide/hepatitis-c-treatment-overview [2013, January 15].
  3. Chronic Hepatitis C. http://www.webmd.com/hepatitis/hepc-guide/chronic-hepatitis-c [2013, January 15].