เจาะสัก ร่างกาย ระวังไวรัสตับอักเสบซี (ตอนที่ 2)

นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ เลขาธิการมูลนิธิโรคตับ ได้กล่าวต่อไปว่า สาเหตุของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี มักผ่านทางเลือด เช่น การเสพยาเสพติด ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การรับโลหิตจากการบริจาคโดยไม่ผ่านหน่วยคัดกรอง ผู้ป่วยล้างไต การสัก เจาะหู หรือเจาะตามอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที

ซึ่งปัจจุบันการตรวจหาเชื้อทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบซี หากผลออกมาเป็นบวก แพทย์จะให้ตรวจยืนยันอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีเชื้อไวรัสจริงหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองก็ไม่แพง มีบริการตรวจทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

จากสถิติของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC = Centers for Disease Control) ระบุว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 100 คน พบว่า

  • 75–85 คนจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ซึ่งใน
    • 60–70 คนจะยังคงเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง
    • 5–20 คนจะพัฒนาไปเป็นตับแข็งภายในเวลา 20–30 ปี
    • 1–5 คนจะพัฒนาจากตับแข็งเป็นมะเร็งตับ

ทั้งนี้ เราสามารถติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ถ้า :

  • มีการใช้เข็มฉีดยาและอุปกรณ์อื่นฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด
  • ผู้ที่ได้รับการถ่ายเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ.2535 (เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี)
  • ผู้ที่มีการสักตามตัว มีการใช้เข็มที่ติดเชื้อโรคสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม เป็นต้น
  • ผู้ที่มีการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  • ผู้ที่ทำงานในสถานสุขภาพ แล้วเกิดอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำ
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์

ส่วนใหญ่คนจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังมานาน 15 ปี หรือมากกว่านั้น แต่ไม่ปรากฏอาการแต่อย่างใด จนกว่าจะตรวจพบ มีประมาณร้อยละ 15-25 ของคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้วสามารถหายได้โดยไม่ต้องรักษา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด

หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อย ทั้งนี้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากมีคู่นอนหลายคน ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอาจติดเชื้อได้แต่พบน้อย อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะไม่ติดต่อด้วยการกอด จูบ จาม ไอ กินอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนผู้ชื่นชอบเจาะ-สักร่างกาย ระวังไวรัสตับอักเสบซีมาเยือน http://www.thairath.co.th/content/life/318242 [2013, January 12].
  2. Overview. http://www.cdc.gov/hepatitis/c/cfaq.htm [2013, January 12].
  3. Topic Overview. http://www.webmd.com/hepatitis/hepc-guide/hepatitis-c-topic-overview [2013, January 12].