เครื่องปรุงพิซซ่า รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก? (ตอนที่ 2)

มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) มีสาเหตุจากหลายปัจจัยรวมถึงพันธุกรรมและอาหาร การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากอาจทำได้โดยดูจากอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจสารบ่งบอกมะเร็งต่อมลูกหมากที่เรียกว่า Prostate-specific antigen (PSA) หรือการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) การตรวจหา PSA เพิ่มอัตราการทราบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่แต่ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตแต่อย่างใด

ในปัจจุบันผลการตรวจอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือเข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยตระหนกและก่อให้เกิดผลร้ายต่อผู้ป่วยบางราย การสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่อาจยืนยันด้วยผลการตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ซึ่งคือ การตรวจทางพยาธิวิทยา

สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากคือ การรู้ระยะของโรคหรือรู้ว่าเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปขนาดไหน การรู้ระยะของโรคช่วยในการพยากรณ์โรคและการเลือกวิธีรักษา โดยทั่วไปมีการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามขนาดของเนื้องอก จำนวนต่อมน้ำเหลือง การแพร่กระจาย หรือที่เรียกว่า TNM system (= Tumor/Nodes/Metastases) มะเร็งระยะ T1 และ T2 เป็นมะเร็งที่ยังลุกลามอยู่ในต่อมลูกหมาก ในขณะที่มะเร็งระยะ T3 และ T4 เป็นมะเร็งที่ได้ลุกลาม ออกนอกต่อมลูกหมากแล้ว

มีหลายวิธีที่ใช้หาการลุกลามแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รวมถึงการตรวจด้วยเครื่อง CT (= Computed tomography scan) เพื่อดูการแพร่กระจายไปที่กระดูกเชิงกราน หรือการใช้เครื่องตรวจกระดูก (Bone scan) เพื่อดูการกระจายไปที่กระดูก

กลยุทธ์การจัดการกับมะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เนื้องอกที่มีความเสี่ยงต่ำ มีการพัฒนาตัวอย่างช้าๆ อาจใช้การติดตามดูอาการเป็นระยะๆ เป็นการหลีกเลี่ยงการรักษาที่มากเกินไป (Overtreatment) ทั้งนี้ผู้ป่วยประเภทนี้ร้อยละ 50–75 มักเสียชีวิตด้วยสาเหตุการตายจากอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

ส่วนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากโดยทั่วไปใช้การผ่าตัด รังสีรักษา (Radiation therapy) แบบต่างๆ มีน้อยรายที่รักษาด้วยการทำลายเนื้อเยื่อโดยใช้ความเย็นจัด (Cryosurgery) การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน (Hormonal therapy) และการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือบางกรณีอาจรักษาโดยใช้ฮอร์โมนพร้อมๆ กับรังสีรักษา

ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2553 องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration – FDA) ได้อนุญาตให้มีการใช้วัคซีน Sipuleucel-T ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครั้งแรกในผู้ป่วยบางราย ที่อยู่ในระยะมะเร็งแพร่กระจาย (โรคระยะที่ 4) วัคซีนนี้ใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเอ็นไซม์ PAP - Prostatic acid phosphatase ที่มักพบในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก

อายุ ความแข็งแรงของสุขภาพ การกระจายของโรค ผลการตรวจที่ได้จากกล้องจุลทรรศน์ และการตอบสนองต่อการรักษามะเร็งในครั้งแรกๆ เป็นสิ่งที่สำคัญที่ใช้บ่งบอกถึงสภาพของโรคได้เป็นอย่างดี

นอกจากปัจจัยด้านอายุและสุขภาพโดยทั่วไป การตัดสินใจว่าจะเลือกการรักษาแบบใดยังขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ป่วยเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียง (Side effects) ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะการแข็งตัวขององคชาติ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น โดยเป้าหมายของการรักษาอยู่ที่การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาให้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากวิถีทางการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Prostate cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Prostate_cancer [2012, May 10].