เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (ตอนที่ 4)

เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

กระแสไฟฟ้าจากหัวใจจะส่งข้อมูลไปตามสายไปยังเครื่องกระตุ้นการเต้น หากจังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ คอมพิวเตอร์จะส่งจังหวะเต้นไฟฟ้า (Electrical pulses) ไปยังหัวใจ เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจรุ่นใหม่จะสามารถวัดอุณหภูมิเลือด การหายใจ และอื่นๆ ได้ และยังสามารถใช้ปรับระดับการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามกิจกรรมที่ทำ

แพทย์สามารถตั้งโปรแกรมคุมจังหวะการเต้นของหัวใจได้จากอุปกรณ์ภายนอก โดยไม่ต้องสัมผัสกับเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจโดยตรง ทั้งนี้ เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจมีอยู่ 3 ชนิด คือ

  1. Single-chamber pacemakers – นำกระแสไฟฟ้าหัวใจจากเครื่องกำเนิดสัญญาณ (Pulse generator) ไปยังห้องล่างขวาของหัวใจ (Right ventricle)
  2. Dual-chamber pacemakers – นำกระแสไฟฟ้าหัวใจจากเครื่องกำเนิดสัญญาณไปยังห้องล่างขวาของหัวใจ (Right ventricle) และห้องบนขวา (Right atrium) เพื่อควบคุมจังหวะการหดตัวระหว่างหัวใจทั้งสองห้อง
  3. Biventricular pacemakers – จะกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องล่างทั้งซ้ายและขวาเพื่อให้หัวใจเต้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นทางเลือกในการรักษาของผู้ที่มีปัญหาหัวใจล้มเหลว อาจเรียกอีกอย่างว่า Cardiac resynchronization therapy (CRT)

โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และทำการติดตั้งเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจโดยอาศัยการผ่าตัดเล็ก (Minor surgery)

ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. Endocardial approach เป็นวิธีที่นิยมใช้ โดย
    • มีการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาชา (Anesthetic) และทำการผ่าตัดเพื่อสอดสายลวดและเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
    • สายลวดจะถูกสอดผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่ซึ่งมักจะอยู่ใกล้กับไหล่ฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับมือที่ถนัดไปยังบริเวณหัวใจด้วยการนำทางของภาพเอ็กซเรย์ (X-ray images)
    • ปลายลวดข้างหนึ่งจะติดอยู่กับกล้ามเนื้อหัวใจ และอีกข้างหนึ่งจะติดกับเครื่องกำเนิดสัญญาณ (Pulse generator) โดยวางไว้ที่ใต้ผิวหนังของช่องอกด้านบน (Upper chest)
  2. Epicardial approach เป็นวิธีที่นิยมใช้กับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดย
    • มีการวางยาสลบ
    • ศัลยแพทย์จะติดปลายลวดข้างหนึ่งกับกล้ามเนื้อหัวใจ ในขณะที่อีกข้างหนึ่งจะติดกับเครื่องกำเนิดสัญญาณ (Pulse generator) โดยวางไว้ใต้ผิวหนังส่วนช่องท้อง (Abdomen)

หลังจากนั้น 2-3 วัน หรือ เป็นสัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด บวม บริเวณที่ฝั่งเครื่องไว้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดกิจกรรมที่ใช้แรงและการยกของหนักเป็นเวลา 1 เดือน

  1. What Is a Pacemaker? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/pace [2015, July 3].
  2. Pacemaker. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/pacemaker/basics/definition/prc-20014279 [2015, July 3].
  3. Abnormal Heart Rhythms and Pacemakers. http://www.webmd.com/heart-disease/guide/abnormal-rhythyms-pacemaker [2015, July 3].