เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (ตอนที่ 1)

เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

หมอคาร์เซน เลนเนิส แห่งศูนย์โรคหัวใจเยอรมนี ที่เมืองมิวนิก ได้เตือนถึงผู้ที่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องคุมจังหวะหัวใจว่า เครื่องคุมจังหวะหัวใจนั้นไม่กินเส้นกับโทรศัพท์มือถือนัก

เนื่องจากโทรศัพท์มือถืออาจจะแทรกแซงสัญญาณของเครื่องควบคุมจังหวะหัวใจได้ โดยทำให้มันกระตุกหยุดลงชั่วคราว ซึ่งจะทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจชะงักลง อาจทำให้เป็นลมหมดสติลงชั่วคราวได้

ดังนั้นเครื่องโทรศัพท์มือถือจึงไม่ถูกกับเครื่องคุมจังหวะหัวใจ โดยตามปกติแล้วบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและเครื่องควบคุมเหล่านี้ ตลอดจนองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกคำแนะนำไว้ว่า ควรจะกันให้โทรศัพท์มือถือออกห่างจากอุปกรณ์เหล่านี้ ในระยะระหว่าง 15 ถึง 20 เซนติเมตร

เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เป็นอุปกรณ์เล็กๆ ที่ใส่ไว้ที่ช่องอกหรือช่องท้องที่ช่วยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ใช้เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) ที่อาจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือผิดปกติ ซึ่งอัตราการเต้นปกติของหัวใจจะอยู่ที่ 60 – 90 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่

หากจังหวะหัวใจเต้นเร็วเกินไปจะเรียกว่า ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) หรือหากจังหวะหัวใจเต้นช้าเกินไปจะเรียกว่า ภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia)

ในระหว่างที่หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจอาจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก หรือหมดสติ (Fainting) และหากหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจะสามารถทำลายอวัยวะสำคัญในร่างกายและอาจทำให้เสียชีวิตได้

สัญญาณไฟฟ้าที่ผิดพลาดในหัวใจเป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจจะใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำในการแก้ไขสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดพลาด โดยเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจสามารถ

  • เร่งจังหวะการเต้นให้เร็วขึ้นหรือชะลอการเต้นของหัวใจให้ช้าลง
  • ช่วยควบคุมการเต้นที่ผิดจังหวะ
  • ประสานระหว่างสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจห้องบนและห้องล่าง
  • ป้องกันการเต้นผิดจังหวะที่อันตรายซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติที่เรียกว่า
  • กลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT syndrome)

[กลุ่มอาการระยะคิวทียาว มาจากลักษณะปรากฏในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ซึ่งพบว่ามีช่วง QT ยาวกว่าปกติ เป็นโรคที่พบน้อยชนิดหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ]

เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจสามารถควบคุมและบันทึกการนำไฟฟ้าและจังหวะการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้เครื่องรุ่นใหม่ยังสามารถวัดอุณหภูมิเลือด อัตราการหายใจ และอื่นๆ ทั้งยังช่วยปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้เข้ากับกิจกรรมที่ทำได้อีกด้วย

  1. มือถือ-เครื่องคุมหัวใจ เป็นโรคไม่ถูกกัน http://thairath.co.th/content/507529 [2015, June 30].
  2. What Is a Pacemaker? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/pace [2015, June 30].