เครียดจนปวดหรือปวดจนเครียด (ตอนที่ 2)

เครียดจนปวดหรือปวดจนเครียด

การวินิจฉัยโรคของแพทย์จะขึ้นอยู่กับคำบอกเล่าของผู้ป่วยถึงลักษณะของอาการปวดที่เป็น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสังเกตลักษณะอาการของตนเองดังนี้

  • ลักษณะการปวด – ปวดเป็นจังหวะหรือไม่ ? หรือปวดคงที่ ปวดทึบ ปวดแปลบ ปวดแบบทิ่มแทง (Stabbing)
  • ความรุนแรงของการปวด – ขณะปวดสามารถทำงานได้หรือไม่ ? ปวดจนนอนไม่หลับหรือปวดจนต้องตื่น ?
  • บริเวณจุดที่ปวด – ปวดทั้งศีรษะ หรือ ปวดข้างเดียว หรือ ปวดที่หน้าผาก หรือ ปวดหลังลูกตา ?

ทั้งนี้ อาการปวดที่ควรไปพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรง ปวดทันทีทันใด
  • ปวดศีรษะพร้อมมีไข้ คอแข็ง จิตใจสับสน ชัก เห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย ชา หรือพูดลำบาก
  • ปวดศีรษะหลังการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

หากมีการปวดที่ผิดปกติหรือซับซ้อน แพทย์อาจสั่งให้ทำการทดสอบเพื่อหาสาเหตุ เช่น ตรวจว่ามีก้อนเนื้อในสมองหรือไม่ ด้วยการใช้วิธี

  • เอ็มอาร์ไอ
  • ซีทีสแกน

ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะจากความเครียดบางคนอาจไม่ไปพบแพทย์ และพยายามที่จะรักษาด้วยการกินยาแก้ปวดเอง ซึ่งบางครั้งก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะชนิดอื่นได้ โดยยาที่ใช้ทั่วไป ได้แก่

  • ยาลดปวด (Pain relievers) เช่น ยา Aspirin ยา Ibuprofen ยา Naproxen ยา Indomethacin และยา Ketorolac ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยา Aspirin ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี และไม่ควรใช้ยา Ibuprofen ในหญิงที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 โดยไม่ควรใช้ยาลดปวดนานเกิน 10 วัน เพราะจะทำให้ร่างกายคุ้นชินกับยา เมื่อหยุดยาอาจทำให้ปวดศีรษะได้อีก
  • ยาสูตรผสม (Combination drugs) เช่น ยา Aspirin หรือยา Acetaminophen หรือทั้ง 2 อย่าง ผสมกับคาเฟอีนหรือยากดประสาท (Sedative drug)
  • ยากลุ่มทริปแทน (Triptans ) และยาเสพติด (Narcotics) สำหรับผู้ที่ปวดไมเกรนและปวดศีรษะจากความเครียดแบบเป็นครั้งคราว

นอกจากนี้แพทย์อาจจ่ายยาป้องกันเพื่อลดความถี่และความรุนแรงในการปวด เช่น

  • ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) เช่น ยา Amitriptyline และยา Protriptyline ที่นิยมใช้เพื่อป้องกันการปวด แต่มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ท้องผูก ง่วงซึม และปากแห้ง
  • ยารักษาอาการซึมเศร้าอื่น เช่น ยา Venlafaxine และยา Mirtazapine
  • ยารักษาโรคลมชัก (Anticonvulsants) และยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยา Topiramate

โดยผู้ป่วยอาจต้องกินยาป้องกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผลได้ ในขณะเดียวกันการใช้ยาลดปวดมากก็อาจจะกระทบต่อผลของยาป้องกันได้

บรรณานุกรม

1. Tension headache. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tension-headache/home/ovc-20211413 [2017, January 12].

2. Tension-type headaches. http://www.nhs.uk/Conditions/headaches-tension-type/Pages/Introduction.aspx [2017, January 12].