เข้ามุมไปเลย (ตอนที่ 2)

เข้ามุมไปเลย-2

      

      

      “Time out” เป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับพฤติกรรมเด็กวิธีหนึ่ง ใช้เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ทำโดยการแยกเด็กออกมาจากสภาพแวดล้อมที่พฤติกรรมไม่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้น เป้าหมายคือ ต้องการลดพฤติกรรมที่ทำผิด (Offending behavior) นั้น เป็นการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)

      Time out เป็นเทคนิคของการเลี้ยงดูเด็กที่มีประสิทธิภาพ แนะนำโดยกุมารแพทย์ (Pediatricians) และ นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental psychologists) ซึ่งมักจะให้เด็กยืนหรือนั่งเก้าอี้ แล้วให้หันหน้าเข้ามุมใดมุมหนึ่งเพื่อสงบสติอารมณ์โดยให้อยู่ในสายตาพ่อแม่ วิธีนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวตะวันตก

      แนวความคิดเรื่อง Time out ถูกคิดค้นโดย Arthur W. Staats ที่ทำการทดลองกับลูกสาวอายุ 2 ขวบของเขาเอง ในปี พ.ศ.2505 ด้วยการปล่อยลูกสาวไว้ในเปลจนกว่าเธอจะหยุดร้อง หรือหากอยู่ในที่สาธารณะแล้วลูกสาวทำตัวไม่น่ารัก เช่น งอแงร้องไห้ เขาก็จะนำตัวเธอไปข้างนอกเพื่อให้เธอสงบลง ซึ่งก็ได้ผลคือ ลูกสาวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดน้อยลง

      Time out เป็นกระบวนการลงโทษที่นิยมใช้กันมากในโรงเรียน วิทยาลัย หรือที่บ้าน ด้วยการที่ผู้ดูแลต้องแยกตัวเด็กออกมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น 5-15 นาที เพื่อให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น เป็นการให้เด็กได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของการ Time out คือ พฤติกรรมที่ไม่ยอมรับ เป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และกรณีที่มีอารมณ์โกรธ มีการโวยวาย เด็กจะได้สงบสติอารมณ์ด้วยตนเอง

      นักวิจัยได้ระบุว่า เวลาสูงสุดของ Time out คือ 15 นาที แต่เวลาที่น้อยกว่านั้นก็อาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปได้ ซึ่งในเรื่องนี้นักจิตวิทยาพัฒนาการได้ระบุว่า พ่อแม่ควรประเมินสถานการณ์เพื่อดูว่า มีสิ่งใดที่จะอาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นด้วย เช่น การอยากได้ของเล่น ความคับข้องใจ ความหิว หรือง่วงนอน แล้วจึงดูถึงความจำเป็นก่อนใช้บทลงโทษด้วยการ Time out

      ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องคอยสอนให้เด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ด้วยการอธิบายว่า ทำไมเด็กจึงถูก Time out ซึ่งควรเป็นคำอธิบายที่กระชับสั้น และอาจใช้ระยะเวลา Time out ให้สัมพันธ์กับอายุของเด็ก กล่าวคือ 1 ขวบ ต่อ 1 นาที เช่น เด็กอายุ 2-5 ปี ควรใช้เวลา Time out 2-5 นาที (กรณีเด็กสมาธิสั้นควรใช้เวลาน้อยลงกว่าปกติ)

      สำหรับสถานที่ที่ใช้ทำ Time out ควรเป็นสถานที่เข้าถึงได้ง่าย อยู่ในสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจเป็นการให้นั่ง ยืน เข้ามุมในห้อง หรือสถานที่อื่นๆ ที่ไม่มีสิ่งรบกวนใจให้วอกแวก

      ขั้นตอนในการTime out

  • พ่อแม่ผู้ปกครองควรแจ้งให้เด็กรู้ว่า จะต้องโดน Time out นานเท่าไร
  • อาจใช้นาฬิกาจับเวลา (Kitchen timer) เพื่อบอกเวลาสิ้นสุด
  • ในระหว่างที่อยู่ในเวลา Time out ไม่ควรอนุญาตให้เด็กพูดหรือส่งเสียง เช่น บ่นพึมพำ เคาะฝาผนัง ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่น ฟังเสียงวิทยุ ดูโทรทัศน์ และพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรสื่อสารกับเด็กในทุกทาง หากฝ่าฝืนก็จะต้องมีการเริ่มนับเวลา Time out ใหม่
  • สมาชิกในครอบครัวทุกคนควรรู้ถึงกฏระเบียบ Time out เพื่อที่ว่าจะไม่ไปรบกวนเด็กในเวลาที่ถูก Time out

แหล่งข้อมูล:

  1. ก่อน Time out พ่อแม่อย่างเราต้อง Time in. http://www.thaihealth.or.th/Content/43088-ก่อน Time out พ่อแม่อย่างเราต้อง Time in.html [2018, July 9].