เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยการล้างไตทางช่องท้อง Part.7

เข้าครัวกับโภชนากร

หมวดอาหารที่ให้เกลือแร่และวิตามิน ได้แก่ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส

โซเดียม

ปริมาณโซเดียมที่ผู้ป่วยCAPD ควรได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆดังนี้

  • ปริมาณโซเดียมที่ขับออกจากปัสสาวะ
  • ปริมาณโซเดียมที่ผ่าเยื่อบุช่องท้องออกไปในการ dialysate
  • ผู้ป่วยมีอาการบวมหรือไม่

ในกรณีผู้ป่วยCAPD มักจะไม่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหารมากเหมือนผู้ป่วยที่บำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม โดยสามารถรับประทาน โซเดียมได้ 1 -3 กรัม/วัน เนื่องจากปริมาณน้ำและโซเดียมที่ขับออกมา สามารถจะควบคุมได้โดยการปรับความเข้มข้นของน้ำยาที่ใช้ล้างช่องท้อง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับความดันโลหิตสูง ต้องมีการควบคุมปริมาณโซเดียมจากอาหาร เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการบวม มีน้ำท่วมปอดและหัวใจอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ควรได้รับโซเดียมประมาณ 800 – 1000 มิลลิกรัม/วัน ดังนั้นผู้ป่วยสามารถเติมเครื่องปรุง เช่น น้ำปลาได้ไม่เกินวันละ 3 ช้อนชา

เครื่องปรุงรสที่มีรสเค็มจัด

ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการเลือกใช้ อาทิ เกลือป่น เกลือเม็ด น้ำปลา ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ น้ำบูดู ปลาร้า กะปิน้ำปลาหวาน ผงปรุงรสต่างๆ น้ำพริกแกงสำเร็จรูป น้ำพริกสำเร็จรูปต่างๆ

อาหารดอง เค็มต่างๆ อาทิ

ไข่เค็ม ปลาเค็ม หอยดอง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม ปลาส้ม ผักดองเค็ม ผลไม้ดองเค็ม เช่นบ๊วย ลูกหนำเลี้ยบ

โพแทสเซียม

ปริมาณที่ควรได้รับเฉลี่ย 2000-3000 มิลลิกรัม/วันส่วนมากแล้วในผู้ป่วย CAPD มักไม่ค่อยพบปัญหาระดับโพแทสเซียมสูง ในทางตรงกันข้ามผู้ป่วย CAPD มักมีภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยาขับปัสสาวะ

ผักที่มีโพแทสเซียมในระดับต่างๆ

  • ผักที่มีโพแทสเซียมสูงมากที่สุด คือ เห็ดโคน เห็ดเปาฮื้อ ผักชี ผักโขม ชะอม หัวปลี ต้นกระเทียม ใบขี้เหล็ก ใบชะพลู ผักกระถิน
  • ผักที่มีโพแทสเซียมมาก คือ ขี้เหล็ก แขนงกล่ำ ผักหวาน ฟักทอง ยอดฟักทอง ยอดกระถิน กล่ำดอก กล่ำปลี ใบกุยช่าย คะน้า ขึ้นฉ่าย บล็อกโคลี่ แครอท เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดหอมสด ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม กวางตุ้ง มะเขือพวง ผักบุ้ง
  • ผักที่มีโพแทสเซียมปานกลาง คือ เห็ดนางฟ้า แตงกวา พริกหวาน มะระจีน หัวผักกาดขาว มะเขือยาว มะละกอดิบ มะเขือเทศ ตำลึง ผักกาดขาว ต้นหอม ถั่วลันเตา บวบหอม
  • ผักที่มีโพแทสเซียมค่อนข้างน้อย คือ บวบเหลี่ยม ถั่วพู หอมหัวใหญ่
  • ผักที่มีโพแทสเซียมน้อยที่สุด คือ เห็ดหูหนู

ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมในระดับต่างๆ

  • ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมมากที่สุด คือ ทุเรียนทุกชนิด ขนุน แห้ว
  • ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมมาก กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ลำไย มะละกอสุก น้อยหน่า ผลไม้อบแห้ง
  • ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง ละมุด ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด องุ่น
  • ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมน้อย แตงโม ลูกท้อสด

บรรณานุกรม

1. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง .การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.

2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

3. อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.