เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนบำบัดทางการแพทย์ผู้ป่วยมะเร็ง Part.9

เข้าครัวกับโภชนากร

การคัดกรองและการประเมินภาวะโภชนการในผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถระบุความรุนแรงหรือแนวโน้มของภาวะโภชนาการที่อาจเกิดขึ้น

แนวทางการดูแลและติดตามผู้ป่วยมะเร็งทางด้านโภชนาการ ซึ่งตีพิมพ์โดย European Society for Clinical Nutrition and Metabolism (ESPEN) และ American Society Parenteral and Enteral Nutrition (ASPEN) นั้นให้คำแนะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันดังนี้

การให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการในช่วงก่อนและหลังผ่าตัด

การศึกษาพบว่าในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการ การให้โภชนบำบัดในช่วงก่อนการผ่าตัดเป็นเวลา 7-14วัน และให้ต่อเนื่องในช่วงหลังผ่าตัด จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารทางปากได้ สามารถอัตราการตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยควรพิจารณาให้ด้วย oral nutrition supplements หรือenteral parenteralก่อนเป็นลำดับแรก

การให้อาหารเสริมที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยในช่วงก่อนและหลังผ่าตัด

มีการศึกษาหลายๆการศึกษา ที่ยืนยันว่าผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด เพื่อรักษามะเร็งทางเดินอาหาร หรือศีรษะและลำคอ มีอัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดลดลง และมีระยะเวลาที่อยู่โรงพยาบาลสั้นลง เมื่อได้รับอาหารเสริมที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย(immunomodulating diets )เป็นเวลา 5-7วันก่อนการผ่าตัด และต่อเนื่องไปในช่วงหลังการผ่าตัดเป็นเวลาอย่างน้อย 3-7 วัน อย่างไรก็ตามพบว่าอัตราการตายของผู้ป่วยไม่ได้ลดลงเมื่อได้รับอาหารเสริมพิเศษนี้

สูตรอาหารเสริมเหล่านี้ มีการเพิ่มสารอาหารพิเศษเข้าไปได้แก่ อาร์จินีน กรดนิวคลีอิก กรดไขมันโอเมก้า-3 และกลูตามีน โดยการให้อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของอาหารเหล่านี้ ไม่ได้หวังผลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการทางโภชนาการเท่านั้น แต่ยังหวังผลเพื่อลดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่มักเกิดกับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดอีกด้วย

การดูแลด้านโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อควบคุมอาการจากโรคมะเร็ง โดยไม่ได้รับการรักษาจำเพาะสำหรับโรคมะเร็ง มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยและมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะได้รับประโยชน์จากโภชนบำบัดน้อย เนื่องจากโรคมะเร็งระยะท้ายจะทำให้ผุ้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอก็ตาม

ในกรณีที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับ enteral parenteral มาอย่างต่อเนื่อง อาจพิจารณาให้ต่อไป หากแพทย์ประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยน่าจะมีชีวิตรอดได้นานกว่า 2-3เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาการรอดชีวิตเฉลี่ยก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากภาวะขาดสารอาหาร อันหมายความว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสียจากการขาดสารอาหาร ก่อนที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถ้าไม่ได้รับโภชนบำบัด การให้ enteral parenteral สามารถให้ต่อเนื่องได้จนกระทั่งผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงวันหรือชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากในช่วงท้ายของชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับสารอาหารหรือน้ำในปริมาณน้อย แต่ปริมาณนี้มักเพียงพอแล้วในการลดอาการหิวหรือกระหายของผู้ป่วย

ในการตัดสินใจเกี่ยวกับโภชนบำบัดในผู้ป่วยระยะท้าย แพทย์จำเป็นต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างประโยชน์ที่ผู้ป่วยที่ผู้ป่วยจะได้รับ กับผลแทรกซ้อน แพทย์ควรให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะและความต้องการ

บรรณานุกรม

  1. วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ .โภชนบำบัดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร. การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่อง ทักษะสู่ความสำเร็จของการเป็นนักกำหนดอาหารเชิงรุก ; วันที่ 28 – 30 เมษายน 2557 ; ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์. กรุงเทพฯ
  3. พรพจน์ เปรมยิน. Nutrition in Cancer . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.