เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนบำบัดทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง Part.8

เข้าครัวกับโภชนากร

การคัดกรองและการประเมินภาวะโภชนการในผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถระบุความรุนแรงหรือแนวโน้มของภาวะโภชนาการที่อาจเกิดขึ้น

แนวทางการดูแลและติดตามผู้ป่วยมะเร็งทางด้านโภชนาการ ซึ่งตีพิมพ์โดย European Society for Clinical Nutrition and Metabolism (ESPEN) และ American Society Parenteral and Enteral Nutrition (ASPEN) นั้นให้คำแนะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันดังนี้

การคัดกรองและประเมินทางโภชนาการ

ผู้ป่วยมะเร็งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการ ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งทุกรายจึงควรได้รับการคัดกรองและประเมินทางโภชนาการเมื่อพบแพทย์ทุกครั้ง

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองแล้วพบว่ามีภาวะทุพโภชนาการ ควรได้รับคำแนะนำด้านโภชนาการ และควรมีการวางแผนการรักษาและติดตาม
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองแล้วพบว่าไม่มีภาวะทุพโภชนาการ ควรได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดโดยการคัดกรองซ้ำเมื่อมาพบแพทย์ทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะทุพโภชนาการ แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการในเวลาอันใกล้ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ ที่กำลังจะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา ควรได้รับคำแนะนำด้านโภชนาการล่วงหน้า เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะทุพโภชนาการและสามารถให้การรักษาภาวะทุพโภชนาการได้ทันท่วงที

การให้คำแนะนำด้านโภชนาการและการใช้อาหารเสริมทางการแพทย์

จากการศึกษาหลายๆการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การให้คำแนะนำด้านโภชนาการแก่ผู้ป่วยมะเร็ง ร่วมกับการให้ผู้ป่วยดื่มอาหารเสริมทางการแพทย์ (oral nutritional supplements )ขณะที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลง และลดภาวะทุพโภชนาการได้

การให้กรดโอเมก้า – 3 ในผู้ป่วยมะเร็ง

การนำกรดไขมันโอเมก้า – 3 มาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่มี cancer cachexia เพื่อหวังผลในการชะลอไม่ให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เนื่องจากกลไกการเกิดcancer cachexia นั้นสัมพันธ์กับการอักเสบอย่างใกล้ชิด และ กรดไขมันโอเมก้า – 3 มีฤทธิ์ที่แตกต่างไปจากกรดไขมันในกลุ่มอื่นๆ คือ สามารถส่งผลให้ร่างกายมีการสร้างสารประเภทโพรสตาแกลนดินและลูโคไตรอีนชนิดที่มีฤทธ์ ลดการอักเสบและสนันสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ดียิ่งขึ้น โดยทั่วไปขนาดของกรดไขมันโอเมก้า – 3ที่เหมาะสมได้แก่ eiosapentaenoic acid(EPA) 2 กรัมต่อวัน

การให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งซึ่งได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัดและรังสีรักษา

ผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาให้การรักษาด้วยด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัดและรังสีรักษา มักเป็นผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่มากและยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้พอสมควร หรือมีสภาพร่างกายที่ยังแข็งแรง โดยการพิจารณาให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะทางโภชนาการของผู้ป่วยแต่ละรายดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้ว การให้โภชนบำบัดที่สอดคล้องกับแผนการรักษามีประโยชน์กับผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาทุพโภชนาการ จากการศึกษาพบว่าการให้โภชนบำบัดไม่ว่าจะเป็น Enteral parenteral หรือ Parenteral nutritionนั้นไม่ได้ช่วยลดอัตราการตาย หรืออัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะรับการรักษาแต่อย่างใด ยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

การใช้โภชนบำบัดจึงควรใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการเท่านั้น

การให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา ควรให้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้คือ

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่เดิม
  • - ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับพลังงานจากอาหารน้อยกว่า 60 % ของความต้องการของร่างกายเป็นเวลา 7-10 วันโดยสามารถให้โภชนบำบัดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เกิดภาวะโภชนบำบัดขึ้นก่อน

โดยวิธีการพิจารณา ควรเลือกการให้โภชนบำบัด oral nutritional supplements หรือ Enteral parenteral ก่อน Parenteral nutritionเสมอเพื่อช่วยในการป้องการกันลอกตัวของเยื่อบุทางเดินอาหาร รักษาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สมบูรณ์และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้ Parenteral nutrition เช่นการติดเชื้อ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. พรพจน์ เปรมยิน. Nutrition in Cancer . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  3. สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ .โภชนบำบัดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร. การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่อง ทักษะสู่ความสำเร็จของการเป็นนักกำหนดอาหารเชิงรุก ; วันที่ 28 – 30 เมษายน 2557 ; ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์. กรุงเทพฯ.