เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วย

เข้าครัวกับโภชนากร

สุขภาวะทางโภชนาการจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความสมดุลย์ระหว่างการได้รับและความต้องการสารอาหาร หากไม่สมดุลจะก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ

ทุพโภชนาการ (malnutrition) เป็นสภาพที่โภชนาการไม่สมดุล เป็นผลจากการได้รับสารอาหารไม่พอหรือไม่ได้สัดส่วน หรือได้รับมากเกินไป ก่อให้เกิดความผิดปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติของปริมาณ cell mass ความผิดปกติทางการดูดซึม สรีรวิทยา หน้าที่และการทำงานของระบบและอวัยวะต่างๆ

โภชนาการขาด (undernutrition) เกิดจากการได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่พอ หรือใช้สารอาหารหรือสูญเสียสารอาหารนั้นในปริมาณที่มากกว่าที่ได้รับ

โภชนาการเกิน (overnutrition) เกิดจากการได้รับสารอาหารมากเกินไป เช่นได้รับพลังงานมากเกินทำให้เกิดโรคอ้วน หรือได้รับวิตามินจากการเสริม ทำให้เกิดวิตามินเกิน (hypervitaminosis)

ผลกระทบของทุพโภชนาการต่อผู้ป่วย

1.เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 2.ลดภูมิคุ้มกัน 3.แผลหายช้า 4.ความแข็งแรงและโครงสร้างของผิวหนังผิดปกติ 5.นอนโรงพยาบาลนานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น 6.อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

ภาวะโภชนาการมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพ ภาวะทุพโภชนาการซึ่งไม่ว่าจะเป็นโภชนาการขาดหรือโภชนาการเกินก็ตาม ล้วนก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ทั้งสิ้น จุดประสงค์ของการประเมินภาวะโภชนาการ เพื่อวินิจฉัย บอกถึงสาเหตุ บอกความรุนแรงของทุโภชนาการและภาวะ แทรกซ้อน เพื่อเป็นแนวทางให้โภชนบำบัดและติดตามผลของโภชนบำบัด การประเมินภาวะโภชนาการที่ถูกต้อง จะช่วยบอกถึงความเร่งด่วนของการให้โภชนบำบัด รวมไปถึงแนวทางและวิธีการให้โภชนบำบัดที่เหมาะสมได้ดี โดยทั่วไปแล้วยังไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะประเมินภาวะโภชนาการที่ดีพอ จึงอาจต้องอาศัยตัวชี้วัดทางโภชนาการหลายตัว

ภาวะทุพโภชนาการสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ ได้แก่ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ บาดแผลหายช้า ภูมิคุ้มกันต่ำลง การทำงานของหัวใจ ปอดและไตผิดปกติ การอดหรืองดอาหารนานๆยังทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารฝ่อลีบ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลนศาสตร์จากภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำ จากผลกระทบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วยในภาวะต่างๆทำให้ผู้ป่วยหายช้า นอนโรงพยาบาลนานขึ้น สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพิ่มอัตราการเกิดทุพลภาพ หรือแม้แต่อัตราการเสียชีวิต การคัดกรองและการการประเมินสภาวะโภชนาการที่เหมาะสมเป็นกระบวนการวินิจฉัย ภาวะทุพโภชนาการเพื่อนำไปสู่การรักษา คือการให้โภชนบำบัดที่ถูกต้อง เหมาะสมอย่างทันท่วงที

บรรณานุกรม

  1. วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.