เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคตับและท่อน้ำดี Part.2

เข้าครัวกับโภชนากร

การประเมินภาวะขาดอาหารในผู้ป่วยตับแข็ง

ควรมีการประเมินในผู้ป่วยตับแข็งทุกราย ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 10 % บ่งชี้ถึงภาวะขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตามต้องประเมินการเปลี่ยนแปลงของ ของเหลวที่อยู่ภายนอกเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆ(extracellular fluid)ร่วมด้วยเสมอ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีขาบวม ท้องมาน สามารถทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน การซักประวัติผู้ป่วยจะต้องประเมินถึงสาเหตุที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการขาดสารอาหาร อาทิ ปริมาณ ชนิดของอาหารที่รับประทาน ลักษณะทางกายที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดโปรตีนและพลังงาน ได้แก่ กล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ไขมันใต้ผิวหนังลดลง ขาบวม เส้นผมเล็บที่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันยังไม่มีการประเมินมาตรฐานที่เป็น gold standard ในผู้ป่วยตับแข็ง ซึ่งThe European Society for Clinical Nutrition and Metabolism (ESPEN) ปี2009 แนะนำให้ประเมินภาวะขาดสารอาหารในผู้ป่วยโรคตับ โดยใช้แบบประเมิน SGA (subjective global assessment) สามารถประเมินความรุนแรงของภาวะขาดสารอาหารได้ดี

โภชนบำบัดในผู้ป่วยตับแข็ง

ผู้ป่วยตับแข็งมีหลายปัจจัยที่ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง การย่อย การดูดซึมและเมตาบอลึซึ่มของสารอาหารในร่างกายผิดปกติ โดยรวมแล้วทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ง่าย การรับประทานอาหารที่พอเพียง การเสริมสารอาหารและวิตามินอย่างเหมาะสมจึงมีความสำคัญในการป้องกันภาวะการขาดสารอาหาร กรณีที่มีการขาดสารอาหารแล้ว จำเป็นต้องมีการแก้ไขเร่งด่วน เพื่อให้กล้ามเนื้อและสารอาหารสะสมปกติ

พลังงานและโปรตีน

สำหรับความต้องการพลังงานโดยทั่วไปคือ 25 – 35 กิโลแคลอรี่/กก./วัน กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการขาด ต้องการพลังงาน 35 - 40 กิโลแคลอรี่/กก./วัน หากมีน้ำหนักตัวเกิน/อ้วนควรได้รับพลังงาน 25-40 กิโลแคลอรี่/กก./วัน ความต้องการโปรตีนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค 1.2 - 1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ในระยะที่ผู้ป่วยเกิดอาการทางสมอง (hepatic encephalopathy) ต้องลดปริมาณโปรตีนลงในช่วงระยะสั้นๆโดยให้กินประมาณ 30 - 40 กรัม/วันหรือเนื้อสัตว์ประมาณ 2 ชต./มื้อ และควรเพิ่มโปรตีนเมื่อไม่มีอาการทางสมองแล้ว เพื่อป้องกันการขาดอาหารเพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 กรัม

ถ้าไม่ได้รับโปรตีนตามที่กำหนดอาจเสริมด้วย อาหารหรือขนมที่ทำจากถั่วเหลืองหรืออาหารโปรตีน อาทิ นมถั่วเหลือง เต้าฮวยผลไม้รวม แนะนำให้ผู้ป่วยกินข้าว แป้งเท่าที่ทนไดเพราะโรคตับไม่มีผลต่อการย่อยคาร์โบไฮเดรต

ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งรุนแรง จะมีโอกาสที่ต้องการพลังงาน เพิ่มขึ้นจากการมีภาวะขาดอาหารเกิดภาวะเครียดอาทิ อักเสบ ติดเชื้อ ภาวะไตวายหรือท้องมาน ดังนั้นแนวทางปฏิบัติของ ESPEN แนะนำให้รับประทานบ่อยๆโดยแบ่งเป็น 4 - 7 มื้อต่อวัน เพราะมีผู้ป่วยตับแข็งอาจมีน้ำช่องท้อง ทำให้มีอาการอืดแน่นท้อง ควรกินอาหารเช้าประมาณ 7.00 -10.00-12.00-15.00-18.00-20.00 น. แนะนำให้รับประทานอาหารมื้อเช้าเป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวัน

ปริมาณโซเดียม

ผู้ป่วยตับแข็งที่มีหรือท้องมานทุกรายจำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวันเพื่อป้องกันและควบคุมท้องมาน โดยสามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ ยกเว้นมีระดับโซเดียมในเลือดต่ำกว่า 120 mEq/L หรือขาบวม อาจต้องพิจารณาจำกัดปริมาณน้ำร่วมด้วย

แอลกอฮอล์

ผู้ป่วยควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

  • เบียร์มีปริมาณแอลกอฮอล์ ประมาณ 4 กรัมต่อเบียร์ 100 มิลลิลิตร เบียร์ 1 กระป๋อง มีแอลกอฮอล์ประมาณ 13 กรัม
  • ไวน์มีปริมาณแอลกอฮอล์ ประมาณ 12 กรัมต่อไวน์ 100 มิลลิลิตร ไวน์ 1 แก้ว มีแอลกอฮอล์ประมาณ 12 กรัม
  • วิสกี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ ประมาณ 40 กรัมต่อ วิสกี้ 100 มิลลิลิตร วิสกี้ 2 ฝา มีแอลกอฮอล์ประมาณ 15 กรัม

Micronutrients

การแก้ไขการขาด micronutrients มีความสำคัญ ในผู้ป่วยโรคตับแข็งจากสุรา จะเสี่ยงต่อการขาด micronutrients โดยเฉพาะ แมงกานีส โฟเลต ซีลีเนียมและวิตามินที่ละลายในน้ำ สำหรับผู้ป่วยตับแข็งรุนแรง หรือโรคทางเดินน้ำดี ควรระวังการขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน (A,D,E,K) เนื่องจากขาดน้ำเกลือดี ซึ่งสำคัญในการดูดซึมไขมัน การขาดวิตามิน D พบได้มากกว่า 90%ของผู้ป่วยตับแข็งรุนแรงและมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับโรคกระพรุน (พบ 12 -55 %ในผู้ป่วยตับแข็ง)

การขาดสังกะสี พบได้บ่อยในผู้ป่วยตับแข็ง พบว่าสังกะสีเกี่ยวข้องการรับรู้รสชาติ ระบบภูมิคุ้มกันและ hepatic encephalopathy การแก้ไขการขาดสังกะสีอาจช่วยให้ผู้ป่วยทานอาหารได้มากขึ้นทางอ้อมได้ นอกจากนี้จากการที่ผู้ป่วยตับแข็งมีโอกาสเสียเลือดทางเดินอาหารเรื้อรังได้บ่อย การที่ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการ micronutrients จึงแนะนำให้ผู้ป่วยตับแข็งรับประทานวิตามินรวมเป็นประจำทุกวัน

ผู้ป่วยโรคตับมีโอกาสเกิดภาวะทุพโภชนาการได้บ่อย มีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อน และอัตราตายเพิ่มขึ้น การรับประทานอาหารให้ได้พลังงานและโปรตีนอย่างเพียงพอ มีความสำคัญในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การป้องกันและแก้ไขภาวะทุพโภชนาการอย่างเหมาะสม จะทำให้การทำงานของตับ คุณภาพชีวิต และอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น กณรีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเข้ารับการผ่าตัด และไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากเองได้เพียงพอ ควรพิจารณาการให้อาหารทางสายให้อาหารเป็นทางเลือกต่อไป

บรรณานุกรม

  1. เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล.Nutrition in Hepatobiliary Diseases. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคตับ.การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.