เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: ลักษณะที่ดีของอาหารทางสายให้อาหาร

เข้าครัวกับโภชนากร

อาหารทางสายเป็นอาหารที่จะต้องสามารถไหลผ่านสายให้อาหารได้โดยไม่ติดขัด ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลดี ในการจัดเตรียมอาหาร จึงต้องพิจารณาถึงลักษณะที่ดีของอาหาร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ดังนี้

  • ความหนืดของอาหารต้องพอเหมาะและสามารถไหลผ่านให้อาหารได้โดยไม่ติดขัด
  • อาหารต้องมีความเข้มข้นของพลังงานที่พอเหมาะ คือ 1 กิโลแคลอรี/มิลลิลิตร เพราะการให้พลังงานแต่น้ำน้อยไม่พียงพอ จะทำให้ผู้ป่วยขาดน้ำ และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้
  • ให้พลังงานและสารอาหารเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย และมีการกระจายตัวของสารอาหารที่เหมาะสมคือ โปรตีนร้อยละ 15-20 ไขมันร้อยละ 30 -40 ของพลังงานที่กำหนด และร้อยละ 20 ของไขมันควรได้จากพืช เพื่อให้ได้ essential fatty acid

การจัดเตรียมอาหารทางสายให้อาหาร ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ควรต้องให้ความสำคัญ และความระมัดระวังในการเตรียมอาหารด้วย เพราะอาหารชนิดนี้เมื่อปั่นผสมเสร็จแล้ว นำไปให้ผู้ป่วยเลยโดยไม่นำไปผ่านความร้อนอีก ดังนั้นขั้นตอนในการเตรียมจะต้องมีความระมัดระวังดูแลเรื่องความสะอาดอย่างเข้มงวด เนื่องจากผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายให้อาหารมีภูมิต้านทานต่ำเสี่ยงต่อท้องเสีย ติดเชื้อได้

ข้อควรระวังในการเตรียมอาหารทางสายให้

1.ความสะอาด

  • สถานที่เตรียมอาหาร ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนและหลังเตรียมอาหารทุกครั้ง
  • ภาชนะอุปกรณ์การเตรียม ไม่ควรใช้ปะปนกับการใช้เตรียมอาหารอื่นๆ ล้างทำความสะอาดและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง
  • การแต่งกายในการเตรียมอาหาร ต้องสวมหมวกคลุมผมให้มิดชิด เล็บต้องตัดสั้นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร
  • การชั่งตวง วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร ควรมีการชั่งตวงอย่างรอบคอบ ตามสัดส่วนที่กำหนด เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
  • การเก็บรักษา อาหารทุกสูตรที่ผสมเสร็จแล้ว ควรเก็บในตู้เย็นที่สะอาด และมีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส อาหารทางสายให้อาหารที่เตรียมแต่ละครั้ง ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงไม่ควรเก็บเกินกว่านั้น เพราะอาหารนั้นอาจมีการติดเชื้อและเสียได้

บรรณานุกรม

  1. รุจิรา สัมมะสุต.หลักการปฏิบัติด้านโภชนบำบัด ; บริษัทพรการพิมพ์จำกัด ,2541