เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: ชนิดของอาหารทางสายให้อาหาร Part.1

เข้าครัวกับโภชนากร

อาหารทางสายให้อาหารเป็นอาหารที่มีลักษณะเป็นน้ำผ่านเข้าสู่ร่างกายทางสายให้อาหาร เพราะผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ ในการพัฒนาสูตรอาหารในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาส่วนผสมที่นำมาใช้ผสมในอาหาร โดยคำนึงถึงพยาธิสภาพผู้ป่วย วิธีการให้อาหารดังนี้

1.คุณลักษณะของอาหารที่ควรคำนึงอันดับต้นๆ คือ Osmolality ซึ่งเป็นหน่วยวัดจำนวนอนุภาคในสารละลายโดยมีหน่วยเป็น milliosmoles per kilogram (mOsm/kg) ในอาหารทางสายฯค่า Osmolality ขึ้นกับความเข้มข้นของน้ำตาลและ electrolyes ควรจะมีค่า Osmolality ใกล้เคียงกับเลือดคือ 300 mOsm/kg หากสูงะทำให้น้ำจะถูกดึงเข้ามาในลำไส้เพื่อใช้ละลายความเข้มข้นของอนุมูล ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ตระคิว และท้องเดิน

2. ส่วนผสมที่ใช้ในการผสมอาหารทางสายฯ ดังนี้

  1. โปรตีน สามารถเลือกใช้วัตถุดิบหลากหลาย อาทิ เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู โปรตีนจากไข่ขาว Casein(โปรตีนในนม) Hydrolyzed casein Whey protein Soy protein
  2. คาร์โบไฮเดรต สามารถเลือกใช้ อาทิ แป้งข้าวโพด แป้งถั่วเหลือง กล้วย ฟักทอง Corn syrup Fructose Oligofructose Maltodextrin และSucrose
  3. ไขมัน/น้ำมัน สามารถเลือกใช้ อาทิ Canola oil Fish oil(น้ำมันปลา) MCT oil(น้ำมันสกัดจากมะพร้าว) Safflower oil(น้ำมันดอกคำฝอย) Soybean oil(น้ำมันถั่วเหลือง) Sunflower oil (น้ำมันดอกทานตะวัน) และ Olive oil(น้ำมันมะกอก)

ชนิดของอาหารทางสายยาง (feeding solution) จะแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่คือ

  1. สูตรน้ำนมผสม (milk based formula)
  2. สูตรปั่นผสม (blenderized formula)
  3. สูตรสำเร็จ

สูตรน้ำนมผสม (milk based formula)

อาหารทางสายสูตรนี้ใช้นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนผสมสำคัญและเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพิ่มจึงต้องมีส่วนผสมอื่นๆรวมอยู่ด้วย อาทิ ไข่ น้ำมัน น้ำตาล เกลือ สำหรับปริมาณมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงานและสารอาหารของผุ้ป่วยแต่ละราย

สำหรับพลังงาน อาหารที่ให้พลังงาน 1 กิโลแคลอรี/มิลลิลิตร จะมีความเข้มข้นที่พอเหมาะและไหลผ่านสายยางได้ดี ในกรณีที่ต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูง นักกำหนดอาหารสามารถดัดแปลงสูตรอาหารได้ตามความเหมาะสม ทั้งในการกระจายตัวของสารอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันที่เหมาะสมได้ตามคำสั่งแพทย์

ข้อดีและข้อด้อยในอาหารสูตรนี้คือ ข้อดีเป็นอาหารที่เตรียมง่าย ไม่ยุ่งยากเหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็กเนื่องจากเป็นอาหารที่มีส่วนผสมสำคัญคือนม น้ำตาลในนม แลคโตส(Lactose) เป็นน้ำตาลทีทำให้เกิดปัญหากับผู้ใหญ่บางรายที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นเวลานาน มักไม่มีน้ำย่อย Lactose ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาท้องเสีย

สูตรอาหารปั่นผสม(blenderized formula)

อาหารสูตรนี้ใช้วัตถุดิบจากอาหาร 5 หมู่ อาทิ เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู ผักต่างๆ ผลไม้ มาทำให้สุกโดยวิธีการนึ่ง นำมาปั่นให้ละเอียดผสม น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ปั่นผสมให้เข้ากันดี นำมากรองด้วยกระชอนเอากากออก เพื่อให้อาหารสามารถไหลผ่านสายให้อาหารได้ ปริมาณ สัดส่วนของพลังงานและสารอาหารตามพยาธิสภาพของผู้ป่วยโดยแพทย์เป็นผู้สั่ง คำนวณสัดส่วนโดยนักกำหนดอาหาร

อาหารทางสายฯสูตรปั่นผสม ใช้สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Lactose Intolerance ที่เกิดจากการใช้นมเป็นส่วนผสม สำหรับวัตถุดิบนั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดหาของญาติผู้ดูแล และการเตรียม ซึ่งนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้ให้คำแนะนำส่วนผสม วิธีการเตรียมให้ก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับไปพักฟื้นรักษาตัวต่อที่บ้าน ในกรณีใช้อาหารสูตรน้ำนม หรือสูตรปั่นผสมนั้น วิตามินและเกลือแร่ที่ได้จากวัตถุดิบอาจไม่เพียงพอกับความต้องการร่างกาย ต้องมีการเติมลงไปด้วยซึ่งแพทย์จะต้องเป็นผู้พิจารณาเสริม

สูตรอาหารสำเร็จรูป(commercial formula)

เป็นอาหารที่ผลิตโดยโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนเป็นมาตรฐานตายตัว ให้คุณค่าสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเพียงแต่ละลายน้ำตามสัดส่วนที่กำหนด แพทย์สามารถเลือกใช้ตามภาวะและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

อาหารทางการแพทย์

แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. สูตรมาตรฐาน (standard formula) มีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตประมาณร้อยละ45-55 ไขมันร้อยละ 30-48 โปรตีนร้อยละ 12-15 อาทิ Ensure Panenteral Isoca Blendera Nutren-Optimum เป็นต้น
  2. สูตรโปรตีนสูง เหมาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการโปรตีนสูงจากการสูญเสีย หรือภาวะที่มีเมตาบอลิสมสูง เช่นในผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บาดเจ็บรุนแรง หรือติดเชื้อรุนแรง ภาวะซูบผอม (cachexia) จากมะเร็ง ได้แก่ Pro-Sure Impact Neo-mune เป็นต้น
  3. สูตรอาหารเฉพาะโรค บางโรคหรือบางภาวะมีการเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิสมมาก โภชนบำบัดอาจมีส่วนในการรักษาโรค หรือบรรเทาความรุนแรง บรรเทาความผิดปกติ หรือลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากภาสวะหรือโรคต่างๆเหล่านั้นได้
    • สูตรอาหารสำหรับภาวะที่มีเมตาบอลิสมสูง เช่นการติดเชื้อ การบาดเจ็บ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก จะมีพลังงานและโปรตีนในสัดส่วนที่สูง เช่นมีความเข้มข้น 1.5 แคลอรี/ 1มล. มีสัดส่วนของโปรตีนประมาณร้อยละ 22-25 เช่น Neo-mune เป็นต้น
    • สูตรอาหารสำหรับโรคไต จะมีความเข้มข้นสูง ผู้ป่วยต้องควบคุมปริมาณเกลือแร่และของเหลว มีโพแทสเซียมและฟอสเฟตต่ำ เช่น Nepro
    • สูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง จะมีไขมันอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงคือประมาณร้อยละ 25 มีโปรตีนค่อนข้างสูง และมีสัดส่วนของกรดอะมิโนแบบกิ่ง (branch chain amino acid หรือ BCAA) เช่น Amino- leban
    • สูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (DM formula) เป็นส่วนประกอบลดลงแต่มีไขมันในสัดส่วนที่สูงขึ้น คาร์โบไฮเดรตอยู่ในรูปของเด็กซ์ตริน ฟรุกโตส polydextose Oligofructose แทนที่จะเป็นซูโครส เช่น Nutren- Balance Glucena- SR Gen- Dm
    • สูตรอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน (immune formula) เสริมด้วย กลูตามีน อาร์จินีน และ ไขมันปลา (fish oil) ใช้ในผู้ป่วยระยะวิกฤติ ผู้ป่วยมะเร็งในระยะรักษาตัวเช่น Pro-Sure Impact

นอกจากนี้ อาหารทางสายสูตรสำเร็จ ยังสามารถดัดแปลงให้เป็นอาหารที่ดื่มทางปากได้อีกด้วย

บรรณานุกรม

  1. ปริย พรรณเชษฐ์. Choice of Nutrition Support . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc
  3. ชนิดา ปโชติการ.Enteral Fomula Development.ประชุมวิชาการสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ; วันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2556 : ณ โรงแรมใบหยกสกาย.กรุงเทพฯ