เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: การให้โภชนบำบัดทางทางเดินอาหาร (Enteral nutrition support)

เข้าครัวกับโภชนากร

การให้โภชนบำบัดทางทางเดินอาหาร (enteral nutrition support)

เป็นการให้อาหารทางทางเดินอาหารเป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับสรีรวิทยาปกติมากที่สุด สามารถดำรงสภาพโครงสร้างและหน้าที่ของทางเดินอาหารได้ดีกว่าการให้อาหารทางหลอด ปลอดภัย และราคาถูกมากกว่าการให้ทางหลอดเลือด การให้อาหารทางทางเดินอาหารนี้ ควรเลือกให้ในผู้ที่ทางเดินอาหารยังมีความสามารถย่อยและดูดซึมอาหารได้

ข้อบ่งชี้ของการให้อาหารทางสายให้อาหาร

คือให้ในผู้ป่วยที่ยังมีความสามารถในการย่อยและการดูดซึมอาหารเพียงพอแต่ไม่สามารถกินเองได้เพียงพอกับความต้องการ จากโรคต่างๆ ดังนี้

  1. โรคทางระบบประสาทและทางจิตเวช
    1. โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular accident)
    2. เนื้องอกของระบบประสาท
    3. การบาดเจ็บของระบบประสาท
    4. การอักเสบของระบบประสาท
    5. โรค demyelination ของระบบประสาท
    6. โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง
    7. anorexia nervosa
  2. โรคของช่องปาก คอ และหลอดอาหาร
    1. เนื้องอก
    2. การอักเสบ
    3. การบาดเจ็บ
  3. โรคของทางเดินอาหาร
    1. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
    2. ลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases)
    3. ลำไส้สั้น (short bowel syndrome) และ
    4. โรคที่ทำให้การดูดซึมอาหารผิดปกติ (malabsorption syndromes)
  4. อื่นๆ
    1. ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
    2. ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด
    3. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS)
    4. ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
    5. ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องหรือท่อช่วยหายใจ

หลักการเลือกให้อาหารทางสายให้อาหาร ขึ้นกับข้อบ่งชี้ ภาวะโภชนาการสภาพของ ผู้ป่วยเป็นหลัก เริ่มต้นจากการประเมินภาวะโภชนาการ ประเมินว่าผู้ป่วยสามารถกินเองได้เพียงพอหรือไม่ และการให้โภชนบำบัดเป็นการให้เพื่อดำรงภาวะโภชนาการหรือเพื่อแก้ไขภาวะโภชนาการ เช่นในผู้ป่วยระยะวิกฤต จะไม่สามารถทนต่อ การให้พลังงานที่เกินต่อความต้องการมากๆได้ และการให้เกินกว่าความต้องการไม่ได้ทำให้คาทาบอลิสมลดลงหรือเพิ่ม อะนาบอลิสมให้กับผู้ป่วยได้

ดังนั้นการให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยระยะวิกฤตจึงให้เพื่อดำรงภาวะโภชนาการ ส่วนการแก้ไขหรือฟื้นฟูภาวะทุพโภชนาการนั้นจะกระทำเมื่อผู้ป่วยผ่านพ้นภาวะเครียดหรือระยะวิกฤตไปแล้ว การตัดสินใจให้อาหารทางทางเดินอาหารจะต้องประเมินการทำงานของทางเดินอาหารก่อนว่าจะสามารถให้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและไม่มีข้อห้ามใช้ ถ้าการทำงานของทางเดินอาหารไม่ได้ปกติทั้งหมด อาจให้โภชนบำบัดทางทางเดินอาหารได้แต่ต้องเลือกชนิดของอาหารที่ให้ (defined formula diet)

บรรณานุกรม

  1. ปริย พรรณเชษฐ์. Choice of Nutrition Support . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc