เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: หลักการให้โภชนบำบัด (Principle of nutrition support) Part3

เข้าครัวกับโภชนากร

แนวทางการให้อาหารในช่วงแรก

  • ให้อาหารในสัดส่วนของพลังงานปกติ โดยให้ตามความต้องการของผู้ป่วยในความเข้มข้นและอัตราเร็วที่ผู้ป่วยสามารถทนได้ หรือหากทนไม่ได้ ควรให้อาหารที่มีความเข้มข้น หรืออัตราเร็วลดลงครึ่งหนึ่งของปกติก่อนในช่วง 24 – 48 ชม.แรก
  • หลีกเลี่ยงการเกิดกลุ่มอาการที่เกิดจากการให้อาหารในช่วงแรก (refeeding syndrome) โดยระยะแรกอาหารที่ ให้ควรจํากัดโซเดียมเหลือประมาณวันละ 20 มิลลิอีควิวาเลนท์ น้ำจากอาหารไม่เกินวัน 500-800 มล. กลูโคสไม่เกินวันละ150-200 กรัม/วัน ในช่วง 2-3 วันแรก รวมถึงการให้โปแตสเซียม ฟอสเฟต แมกนีเซียมและวิตามินรวมทดแทน อย่างเพียงพอด้วย ในระหว่างนี้จะต้องมีการชั่งน้ำหนัก บันทึกปริมาณน้ำเข้าและออก และตรวจระดับเกลือแร่ในร่างกาย ร่วมไปกับอาการทางคลินิกเป็นระยะๆ หลังจากนี้ ควรปรับอาหารเพิ่มขึ้นจนถึงความต้องการของผู้ป่วย ในระยะนี้อาหารจะเป็นเพียงรักษาระดับ(maintenance) แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสมดุลย์ของไนโตรเจนเป็นบวกได้ การใช้พลังงานขณะพักจะสูงขึ้นกว่าขณะที่ขาดอาหารภายใน1 สัปดาห์และจะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นจนเป็นปกติหลังจากที่ร่างกายมี lean tissue mass มากขึ้น
  • การให้อาหารขั้นต่อไป ควรเป็นอาหารที่มี พลังงานสูงขึ้นและมีโปรตีนสูง1.5- 2 กรัม/กก./วัน เพื่อให้สมดุลย์ของพลังงานและไนโตรเจนเป็นบวก หากให้โปรตีนน้อยแต่พลังงานเพียงพอจะทำให้เกิดไขมันสะสมมากกว่ากล้ามเนื้อ หากผู้ป่วยไม่ได้มีกิจกรรมหรือออกกำลังกาย ร่างกายจะเก็บสะสมโปรตีนส่วนกลางแต่จะไม่เก็บสะสมในกล้ามเนื้อ หากมีความเครียดทางเมตาบอลิก เกิดขึ้นในช่วงนี้ในขณะที่สมดุลย์พลังงานเป็นบวก ร่างกายจะมี การเก็บสะสมไขมันเพิ่มขึ้นได้ แต่จะไม่มีการเก็บโปรตีนได้
  • การประเมินโภชนาการซ้ำ เพื่อดูการตอบสนอง และประเมินได้ว่าผู้ป่วยได้รับโภชนบำบัดเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งรายละเอียดของการประเมินภาวะโภชนาการได้แสดงในบทการประเมินภาวะโภชนาการแล้ว

บรรณานุกรม

  1. ประณิธิ หงสประภาส. Principle of Nutrition Support in Adults . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.