เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรกินอย่างไร

เข้าครัวกับโภชนากร

เมื่อตับเกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันขึ้นมาไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ มักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนตามมาเสมอ ดังนั้นถ้าเป็นอยู่ในระยะสั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการมากนัก แต่ถ้าอาการของโรคตับนั้นเสื่อมลงกลายเป็นแบบเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเปลี่ยนเป็นโรคตับแข็ง จะมีผลต่อภาวะโภชนาการ เกิดโรคขาดสารอาหารต่างๆ เช่น ขาดโปรตีนและพลังงาน ขาดวิตามิน ซึ่งเกิดจากการได้รับอาหารไม่พอ ประสิทธิภาพของการย่อย ดูดซึมและเผาผลาญสารอาหารลดน้อยลงไป

โปรตีนในโรคตับแข็ง

โปรตีนเป็นสารอาหารหลักตัวหนึ่งที่สำคัญมากในโรคตับแข็ง มีบทบาททั้งในด้านการรักษาโรค หรืออาจทำให้อาการโรคตับแข็งนั้นแย่ลงไปได้อีก คือ เมื่อเป็นโรคตับแข็ง การเผาผลาญโปรตีน แล้วเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นยูเรียลดน้อยลง เนื่องจากขาดเอนไซม์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์ยูเรีย ทำให้มีแอมโมเนียในเลือดสูงมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะสมองเสื่อม (hepatic encephalopathy) ดังนั้นการจำกัดปริมาณโปรตีนในอาหารให้ลดน้อยลง ซึ่งถ้ามากเกินไป ผู้ป่วยก็จะขาดโปรตีนทำให้ร่างกายไม่มีโปรตีนไปใช้ในส่วนที่จำเป็นและสำคัญมากต่อร่างกาย

ปริมาณและคุณภาพของโปรตีนในอาหารสำหรับคนไข้โรคตับแข็งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลรักษาคนไข้กลุ่มนี้ การให้โปรตีนสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งนี้ ควรเริ่มต้นด้วยให้โปรตีนที่มีคุณภาพดี เช่น นม ไข่ ปลา ประมาณ 0.5 กรัม/กก./วันก่อน และติดตามดูผลเลือดที่สัมพันธ์กับโรคนี้ เช่น blood urea nitrogen, blood ammonia สูงขึ้นจากเดิมหรือไม่ ถ้าไม่สูงขึ้นก็ปรับปริมาณโปรตีนในอาหารให้สูงเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ควรเกินปริมาณสำหรับคนปกติ คือ 1 กรัม/กก./วัน ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลและตัดสินใจโดยแพทย์หรือโภชนากรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

นอกจากนี้อาหารที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ผักสด ผลไม้ มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง มีใยอาหารมากทำให้เพิ่มการขับถ่ายอุจจาระมากขึ้น ซึ่งช่วยลดของเสียจากการเผาผลาญโปรตีนได้บ้าง แต่ผู้ป่วยโรคตับแข็งส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบใยอาหารมากๆ เนื่องจากรู้สึกแน่นท้อง ซึ่งปกติของโรคนี้มักมีปัญหาท้องอืดอยู่แล้ว

หลักในการปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง

  • ควรรับประทานอาหารรสจืด หรือรสอ่อน หลีกเลี่ยงการเติมเกลือหรือน้ำปลา ปรับการบริโภคอาหารรสจืด
  • ผู้ป่วยตับแข็งจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟาท็อกซิน เพราะสารนี้จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากยิ่งขึ้น สารอะฟาท็อกซิน สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 296 องศาเซลเซียส จึงไม่ถูกทำลายไปด้วยการทำอาหารให้สุก อาหารที่อาจปนเปื้อนอะฟาท็อกซินได้แก่ พวกถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น ปลาเค็ม เป็นต้น
  • ผู้ป่วยตับแข็งควร งดรับประทานอาหารทะเลสุกๆดิบๆ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงจน ช็อคและเสียชีวิตได้
  • เวลาในการรับประทาน ผู้ป่วยตับแข็งโดยเฉพาะในกรณีที่ตับทำงานไม่เป็นปกติแล้ว ควรปรับเวลาในการรับประทานอาหารวันละ 4-7 มื้อ เพราะผู้ป่วยตับแข็ง การงดอาหารช่วงกลางคืน 1 คืนจะเท่ากับคนปกติงดอาหารไป 3 วัน เพราะผู้ป่วยตับแข็งอาจมีน้ำในช่องท้อง ร่วมกับการเคลื่อนที่ของระบบทางเดินอาหารไม่ดี เวลารับประทานอาหารมากจะมีอาการอืดแน่นท้องได้
  • อาหารว่างสำหรับโรคตับแข็ง อาจเป็นขนมที่ทำจากถั่วเหลืองหรือนมถั่วเหลืองใส่ไข่ต้มโดยเลือกรับประทานเฉพาะไข่ขาว หรือเต้าฮวย
  • แอลกอฮอล์ ผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะอาจทำให้โรคตับแย่ลง นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแตกของเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญสาเหตุหนึ่งในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
  • การออกกำลังกาย ในผู้ป่วยตับแข็งที่ตับยังสามารถทำงานได้ดีสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่หักโหมเกินไป และควรมีการพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีที่ตับทำงานไม่ปกติแล้วก็ควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น วิ่งเหยาะๆ หรือเดินเร็ว ถ้ารู้สึกเพลียก็พัก ที่สำคัญควรต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุ เพราะผู้ป่วยตับแข็งอาจมีเกล็ดเลือดต่ำและมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เลือดออกง่ายหยุดยาก

อ้างอิง

ปรียา ลีฬหกุล.โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง เข้าถึงได้จาก http://www.thailiverfoundation.org/th/cms/detail.php?id=34 [2014,Feb11].