เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนบำบัดสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบ ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

เข้าครัวกับโภชนากร

อาหารที่ผู้ป่วยได้รับ ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคและโรคแทรกซ้อน สารอาหารที่สำคัญที่จะต้องดูแลสำหรับโรคตับอักเสบได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต โซเดียม และแอลกอฮอล์

1.โปรตีน จำเป็นต้องได้รับเพียงพอ วันละ 100-150 กรัมหรือ 1 -1.5กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม เพื่อการสร้างเซลล์ใหม่ของตับ และควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงเช่น ไข่ขาว เนื้อปลา ในกรณีที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลัน และระดับแอมโมเนียในเลือดสูง โปรตีนจะได้รับการจำกัดในระดับต่ำๆเช่นเดียวกับโรคตับแข็ง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ

2. คาร์โบไฮเดรต ผู้ป่วยตับอักเสบต้องการคาร์โบไฮเดรตสูงประมาณ 300-400 กรัม/วัน เพื่อให้พลังงานพอเพียงกับที่ร่างกายต้องการและมีไกลโคลเจนสะสมเพียงพอ และช่วยให้ร่างกายได้นำโปรตีนไปใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อที่จำเป็นต่อร่างกาย คาร์โบไฮเดรตที่รับประทานควรเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีกากใยอาหารมากกว่าคาร์โบไฮเดรตประเภทน้ำตาล

3. ไขมัน อาหารควรมีไขมันในปริมาณปานกลาง วันละประมาณ 80-100 กรัม ไขมันจะช่วยเพิ่มรสชาสลดอาการเบื่ออาหารซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคตับอักเสบ กรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน แพทย์จะให้ไขมันที่มีโครงสร้างของกรดไขมันสายสั้นปานกลาง เช่น ไขมันเอ็มซีที (MCT) เป็นระยะเวลาสั้นๆจนกว่าอาการจะดีขึ้น

4. พลังงาน ผู้ป่วยโรคตับอักเสบจำเป็นต้องได้รับพลังงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่มีปัญหาทุพโภชนาการ ความต้องการพลังงานวันละประมาณ 2,500-3,000 กิโลแคลอรี เพื่อให้เพียงพอต่อการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ชดเชยกับพลังงานที่สูงขึ้นเมื่อร่างกายมีไข้และเพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

ในระยะที่รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร จำเป็นที่ต้องให้อาหารเหลว อาจผสมอาหารทางการแพทย์เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของสารอาหาร หรือให้รับประทานเสริมจนกว่าผู้ป่วยเริ่มมีความอยากอาหารมากขึ้นจึงเริ่มให้อาหารอ่อน เราสามารถนำผลไม้มาปั่นใส่นมและโยเกิร์ตเพื่อเพิ่มโปรตีนและพลังงาน

ข้อแนะนำทางโภชนาการสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

  • รับประทานอาหารหลากหลายจากอาหารหลัก 5 หมู่
  • เลือกเนื้อล้วนไม่ติดมันทุกชนิด เช่น หมู ไก่ ปลา กุ้ง หอย ปู เป็นแหล่งของ โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 12 ไนอะซิน บี1 ธาตุเหล็ก ธาตุเหล็ก สังกะสี และซีลีเนียม
  • ข้าว ขนมปัง ธัญพืชต่างๆ เป็นแหล่งของ คาร์โบไฮเดรต ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 และบี 2 ไนอะซิน และใยอาหาร
  • ผลไม้และผักต่างๆ เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ
  • นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นแหล่งของ โปรตีน แคลเซียม วิตามินบี 2 ไนอะซิน โฟเลท วิตามินเอ วิตามินบี 12 และวิตามินดี
  • รับประทานอาหารให้ได้พลังงานเพียงพอแต่ไม่มากเกินไป โดยแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ (4-5) มื้อตลอดวัน
  • รับประทานอาหารโปรตีนให้เพียงพอเพื่อป้องกันการติดเชื้อและช่วยให้ตับสร้างเนื้อเยื่อใหม่
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันอันตรายต่อตับและช่วยให้ตับได้ฟื้นฟูสภาพ
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก งดอาหารดิบๆสุกๆ โดยเฉพาะน้ำและน้ำแข็งควรทำรับประทานเองที่บ้านการรับประทานอาหารติดเชื้อหรือปนเปื้อนเชื้อโรคจะแทรกซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามพยาธิสภาพของตับมีความสำคัญสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ป่วยตับแข็งระยะสุดท้ายที่เข้ารับการเปลี่ยนตับผลการผ่าตัดก็จะดีกว่าผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วย

อ้างอิง

สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย เข้าถึงได้จาก http://www.thasl.org/th/news.php [2014,Feb11].